รัฐหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยสอดรับแนวคิด "BCG" สร้างมูลค่าเพิ่ม

04 มิ.ย. 2566 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2566 | 02:32 น.

รัฐหนุนอุตสาหกรรมอาหารไทยสอดรับแนวคิด "BCG" สร้างมูลค่าเพิ่มจากการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงจากปลาทูน่า ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ระบุปี 65 ไทยส่งออกปลาทูน่าไปจำนวน 514,071 ตัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความคืบหน้าและพัฒนาการของภาคอุตสาหกรรมอาหารไทย

ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (Thai Tuna Industry Association : TTIA) และสมาคมการค้าอาหารสัตว์เลี้ยงไทย (Thai Pet food Trade Association : TPFA) ได้นำสินค้าไปจัดแสดงในงาน THAIFEX - ANUGA ASIA 2023 ยืนยันความเป็นผู้นำอันดับ 1 ของโลกด้านอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐานระดับสากล 

ในงานต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนสูญเสียและขยะอาหาร (Food loss food waste) ที่ได้จากปลาทูน่า นำไปผลิตเป็นสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออกเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว โดยใช้แนวคิด BCG ควบคู่การผลิต เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ในหลายประเภท
 

โดยสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเข้าร่วมงาน THAIFEX - ANUGA ASIA เป็นประจำทุกปี เพื่อนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยในเป็นผู้นำการผลิตและส่งออกสินค้าทูน่าให้แก่นักธุรกิจและประชาชนที่เข้าร่วมงาน 

ซึ่งในปี 2566 นี้ เน้นการนำแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) มาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมปลาทูน่าและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เกิดผลผลิตที่คุ้มค่ามากที่สุด ด้วยการใช้ประโยชน์สูงสุดจากปลาทูน่าทั้งตัว ซึ่งมีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ดังนี้

  • ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) นำส่วนสูญเสียไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสินค้าอื่น ๆ เช่น น้ำนึ่งปลาทูน่า นำมาสกัดเข้มข้นใช้เป็นส่วนผสมเพิ่มโปรตีนและความน่ากินในสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยง
  • ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำส่วนของเนื้อปลาทูน่าไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงได้โดยตรง หรือนำส่วนของเครื่องใน เช่น ซากกระดูก ก้างของปลาทูน่า ไปเป็นวัตถุดิบผสมในอาหารสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงการสกัดน้ำมันปลาทูน่า
  • ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มีการลงทุนในกลุ่มพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (Solar roof top) การเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังความร้อนใช้ในระบบทำความเย็นและไอน้ำ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Recycled) และการใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เช่น กล่องกระดาษ รวมถึงการศึกษาและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากไบโอพลาสติกด้วย

จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ภาพรวมปี 2565 ที่ผ่านมา (เดือนมกราคม - ธันวาคม 2565) ไทยส่งออกปลาทูน่าไปจำนวน 514,071 ตัน สร้างมูลค่าได้กว่า 79,409 ล้านบาท ขณะที่อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับสุนัขและแมว (TPFA Wet petfood) ส่งออกไปจำนวน 336,309 ตัน สร้างมูลค่าได้กว่า 52,024 ล้านบาท

"ปลาทูน่าเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ โดยการนำแนวคิด BCG ที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาประยุกต์ใช้จะเป็นอีกโอกาสของการพัฒนา ในการใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ครอบคลุมทุกกระบวนการการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งยังสามารถใช้องค์ความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้กับสินค้ามีจุดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ"