ประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน 8 จังหวัด ดูแลปลาทูสาว เริ่ม 15 มิ.ย.2566

12 มิ.ย. 2566 | 02:51 น.
อัปเดตล่าสุด :12 มิ.ย. 2566 | 03:12 น.

กรมประมง ประกาศปิดอ่าวไทยตอนใน 8 จังหวัด หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2 ช่วง ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูสาวในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566 หรือการ "ปิดอ่าวไทย" เพื่อการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำฤดูมีไข่ โดยเฉพาะปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย

สำหรับมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2566 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้

ช่วงที่ 1 
ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร

ช่วงที่ 2 

ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร

 

มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566 หรือการ "ปิดอ่าวไทย"

อนุญาตเครื่องมือประมงบางชนิด

กรมประมงอนุญาตให้ใช้เฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิด ดังนี้

1. อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง

2. อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส และมีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติด หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน

3. อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก

4. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

5. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ ให้ทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้

6. ลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป  ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง

7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด

8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบการทำประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง

9. เครื่องมือคราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำร่วมด้วย 

10. เครื่องมืออวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ และระยะเวลาในการทำการประมงที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติร่วมด้วย

11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก

12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง

13. เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า ประกอบกับ

  • เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือประมงพาณิชย์ตามประเภทที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศกำหนดให้เป็นประมงพาณิชย์ 
  • เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือทำการประมงประเภทอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) 
  • เครื่องมือประมงที่ไม่ใช่เครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566 หรือการ "ปิดอ่าวไทย"

 

บทลงโทษของผู้ฝ่าฝืน

สำหรับการใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงต้องไม่ใช่เครื่องมือที่กำหนดห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา 67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  

สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 30 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย

เป้าหมายฟื้นฟูปลาทูสาวสัตว์น้ำฤดูวางไข่

สำหรับพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หากพิจารณาจากผลจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือประมงพาณิชย์ (เครื่องมืออวนล้อมจับ) เฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนในช่วงหลังมาตรการฯ พบว่าปี 2565 มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 11,716.75 กิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ถึง 8,631.33 กิโลกรัม/วัน (ปี 2564 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 3,085.42 กิโลกรัม/วัน) โดยสัตว์น้ำหลักที่จับได้ อาทิ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว ปลาสะดือขอ 

แต่โดยภาพรวมการปิดอ่าว ส่งให้ผลการจับปลาเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มของกลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น ปลาสีกุนเขียว ปลาหลังเขียว และปลาตะเพียนน้ำเค็ม 
สำหรับปลาทู ลูกปลาที่เกิดมาใหม่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) เริ่มเดินทางเข้าหาฝั่ง กรมประมงประกาศปิดต่อเนื่องบริเวณเขตชายฝั่งทะเลของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน เพื่ออนุรักษ์ลูกปลาทูที่เกิดใหม่ 

รวมทั้งประกาศปิดเขตต่อเนื่องบริเวณปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรักษาปลาทูสาวให้หากินและเลี้ยงตัว จนมีขนาดประมาณ 11-12 ซม. หลังจากนั้นจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นทีอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมในช่วงเวลาดังกล่าวจะพบปลาทูที่มีขนาด ประมาณ 14-15 ซม. ซึ่งเรียกว่า ปลาทูสาว และอยู่หากินในพื้นที่ 

โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ก้นอ่าว หรือพื้นที่ปิดฝั่งเหนือช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ในช่วงเวลาดังกล่าวพบปลาทูมีขนาด ประมาณ 16-17 ซม. ซึ่งเป็นขนาดพ่อแม่พันธุ์ เริ่มมีไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จะเลี้ยงตัวอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในจนปลายปี เมื่อมีความพร้อมที่จะวางไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จึงเริ่มอพยพเคลื่อนตัวลงสู่แหล่งวางไข่ในอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้งเป็นไปตามวงจรชีวิตปลาทู ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดมาตรการ 

ดังนั้น การดำเนินตามมาตรการจึงต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำ ไม่ให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ และจะเป็นหนทางในการนำปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์