ราคาน้ำตาลทรายขาว (white sugar) สัญญาส่งมอบเดือนต.ค.2566 พุ่งแตะระดับ 740.20 ดอลลาร์ต่อเมตริกตันเมื่อวันพุธ (30 ส.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี
นอกจากนี้ ราคาสัญญาน้ำตาลทรายดิบ (raw sugar) ส่งมอบเดือน ต.ค.ก็ได้พุ่งแตะระดับ 25.89 เซนต์ต่อปอนด์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน
สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลอินเดีย ได้ประกาศ ระงับการส่งออกน้ำตาล โดยจะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ นับเป็นการระงับส่งออกน้ำตาลครั้งแรกในรอบ 7 ปีของอินเดีย เนื่องจากอินเดียเองเกิดภาวะแห้งแล้งภายในประเทศ และได้รับปริมาณฝนในฤดูมรสุมต่ำสุดในรอบ 8 ปี
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้งดังกล่าวมีสาเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งคาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 นี้
แหล่งข่าวจากรัฐบาลอินเดียที่ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การระงับส่งออกน้ำตาลของอินเดียซึ่งจะทำให้น้ำตาลส่วนหนึ่งขาดหายไปจากตลาดโลกจะทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดนิวยอร์กและลอนดอนที่พุ่งสูงอยู่แล้ว สูงต่อขึ้นไปอีก ก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกสูงขึ้นตาม ๆ กัน
“สิ่งที่เราให้ความสำคัญในตอนนี้คือการตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศของเราเอง และใช้อ้อยส่วนเกินมาผลิตเอทานอล” แหล่งข่าวกล่าว และว่า อินเดียไม่เหลือน้ำตาลมากพอที่จะนำมาจัดสรรโควตาการส่งออก
ทั้งนี้ ในฤดูกาลปัจจุบันที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายนนี้ รัฐบาลอินเดียอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลส่งออกได้เพียง 6.1 ล้านตัน หลังจากที่เคยให้ส่งออกทำสถิติมากสุดที่ 11.1 ล้านตันในฤดูกาลที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา รัฐบาลอินเดียยังกำหนดจัดเก็บภาษี 20% การส่งออกน้ำตาลไปยังต่างประเทศอีกด้วย
ปัญหาสภาพอากาศที่แห้งแล้งกว่าปกติของอินเดีย เกิดจากฝนฤดูมรสุมปีนี้ที่ตกในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยของอินเดีย มีน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยปกติถึง 50 % โดยพื้นที่เพาะปลูกหลัก ๆนั้นอยู่ในรัฐมหาราษฏระทางภาคตะวันตกและรัฐกรณาฏกะทางภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกอ้อยและเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลรวมกันเกินกว่าครึ่งของกำลังผลิตน้ำตาลทั้งหมดของอินเดีย
แหล่งข่าวอีกคนในอุตสาหกรรมน้ำตาลกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ฝนที่ตกน้อยกว่าปกตินี้จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลของอินเดียในฤดูกาล 2566/2567 ลดน้อยลง และจะทำให้การปลูกอ้อยในฤดูกาล 2567/2568 ลดลงไปด้วย ส่วนราคาน้ำตาลภายในประเทศอินเดียช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ขยับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบสองปี ทำให้รัฐบาลต้องยอมให้โรงสีนำน้ำตาลในสต๊อคออกมาขายมากขึ้น 200,000 ตันในเดือนสิงหาคม
เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่อินเดียวิตกคือเงินเฟ้อในหมวดสินค้าอาหารที่ไต่ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 11.5% เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี “การที่ราคาน้ำตาลพุ่งสูงขึ้นล่าสุดนี้ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะส่งออกหายวับไปในทันที” แหล่งข่าวกล่าว
บริษัทผู้ค้าในเมืองมุมไบให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากแผนการระงับการส่งออกน้ำตาลของอินเดียในเดือนกันยายนนี้ อีกปัจจัยที่อาจทำให้ราคาน้ำตาลตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นคือการส่งออกของไทยที่คาดว่าจะลดลงเช่นกันเนื่องจากผลผลิตมีน้อยลง ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิลคาดว่าจะไม่สามารถผลิตเพิ่มได้มากพอที่จะชดเชยปริมาณที่ขาดหายไปในตลาด
ข้อมูลอ้างอิง