บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ สตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบ โดมเพื่อการเกษตร ที่มีชื่อเรียกว่า “ไบโอพ็อด” (BioPod) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเกษตรกรสามารถปลูกผลผลิตในท้องถิ่นไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง
บาร์บารา เบลวีซี ผู้ก่อตั้งบริษัท ยกตัวอย่างว่า ในแง่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การทดลองปลูกต้นวานิลลาภายในโดมไบโอพ็อดในพื้นที่ที่ไม่ใช่แหล่งเพาะปลูกต้นไม้ชนิดนี้โดยธรรมชาติ จะเป็นการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งวานิลลาจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง
“นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประโยชน์มากขึ้น เทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะด้วยวิธีการใหม่นี้ 99% ของน้ำ จะถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังเป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศไปเพิ่มระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโดม” เบลวีซีอธิบาย
การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ยังช่วยให้สามารถใช้พื้นที่สำหรับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้พื้นที่แนวตั้งมากกว่าแนวขยาย
รูปทรงภายนอกของโดมไบโอพ็อด มีลักษณะกลมรี ตัวฐานใช้วัสดุที่สามารถถอดประกอบได้ง่าย พื้นชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ระบบภายใน ส่วนหลังคาด้านบนใช้เป็นวัสดุโพลิเมอร์เป่าลมให้พองออกได้คล้ายกับโดม
ด้านในประกอบไปด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงแสง และน้ำ นอกจากนี้ ยังมีระบบหมุนเวียนรีไซเคิลทั้งน้ำและอากาศกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย
ด้วยแนวคิดให้เป็นโมดูลผลิตอาหารแบบยั่งยืน ภายในโดมซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 55 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงบนอวกาศ โดยตั้งสมมุติฐาน ถ้ามนุษย์ตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ อุณหภูมิที่นั่นเมื่อแสงอาทิตย์ส่องอาจจะร้อนได้ถึง 127 องศาเซลเซียส หรือลดลงต่ำสุดได้ถึง -173 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน
ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า (NASA) จะมีการนำโดมเพื่อการเกษตรไบโอพ็อดนี้ ออกไปทดลองปลูกพืชในอวกาศด้วย โดยมีกำหนดใช้งานบนดวงจันทร์ภายในปี 2027เป้าหมายเพื่อพัฒนาเรือนปลูกพืชสำหรับใช้งานในอวกาศ รองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นดวงจันทร์ที่นาซ่ากำลังมีโครงการนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 นี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้บริหารของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ได้เข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดโดยสหประชาชาติที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อแนะนำโครงการและระดมทุนสำหรับ
โครงการนี้ โดยคาดว่าเมื่อบริษัทผลิตโดมไบโอพ็อดออกจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 350,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านบาท
ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่า หลายภูมิภาคทั่วโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผสมพันธุ์ดัดแปรพันธุกรรมอาจนำไปสู่การปรับปรุงพืชให้สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดีขึ้น แต่พืชบางชนิดเช่น มันฝรั่ง ก็มีความเสี่ยงที่ผลผลิตจะลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้น การนำไบโอพ็อดไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นวิธีหนึ่งในการรับรองว่าพืชผลบางชนิดจะปลอดภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากนี้ ไบโอพ็อดยังสามารถปกป้องและอนุรักษ์พืชที่อยู่นอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออีกเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร นอกเหนือไปจากธนาคารเมล็ดพันธุ์และสวนพฤกษศาสตร์
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไบโอพ็อด เป็นเพียงขั้นตอนแรกของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเลือกอยู่ไม่ว่าจะเป็นบนโลก ในอวกาศ หรือบนดวงจันทร์ แนวคิดของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ซึ่งเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น ต้องการให้ไบโอพ็อด สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน และการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ
เพื่อเป็นหลักประกันว่า มนุษย์จะมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าพวกเขาเลือกจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นก็ตาม