ภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ ปริมาณปลาตามแม่น้ำ ใน ประเทศกัมพูชา ลดน้อยลงจนกระทบต่อรายได้ของผู้คนในประเทศ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งการหยุดชะงักของระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อน การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุ่มน้ำ และการจับปลามากเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยคุกคามแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาทะเลสาบ “โตนเลสาบ” (Tonle Sap Lake) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เสียม ฮวด ชาวประมงกัมพูชาวัย 45 ปีซึ่งจับปลามาตั้งแต่อายุ 15 กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เขาได้เห็นปริมาณปลาที่ลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในทะเลสาบโตนเลสาบอันงดงามของกัมพูชา โดยปลาเหล่านี้เป็นเพียงแหล่งรายได้เดียวของครอบครัวของเขา
“โตนเลสาบ” เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณโดยรอบอันกว้างใหญ่ไพศาลมีผู้คนอาศัยอยู่ราว 1.3 ล้านคน
เสียม ฮวด ซึ่งมีบุตร 5 คน กล่าวขณะล่องเรือผ่านป่าชายเลนเพื่อดึงอวนที่จับปลาได้เพียงจำนวนน้อยนิดอย่างน่าผิดหวังว่า ธรรมชาติที่บริเวณทะเลสาบโตนเลสาบแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่าง “ผิดปกติ” บางปีอากาศก็ร้อนมากในช่วงหน้าฝน แต่บางครั้งก็ร้อนสลับหนาวในช่วงฤดูแล้ง บางครั้งก็เกิดภาวะฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรืออากาศร้อนจัดจนออกไปตกปลาไม่ได้ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อปริมาณปลาในทะเลสาบ และการจับปลาได้น้อยลงก็หมายถึงรายได้ที่ลดลงของครอบครัวชาวประมง
เสียม ฮวด กล่าวกับรอยเตอร์ว่า เขาต้องการให้ลูก ๆ มีชีวิตที่ดีขึ้น ได้เรียนภาษาต่างประเทศ เขาไม่ต้องการให้ลูก ๆ เจริญรอยตามพ่อในการเป็นชาวประมง เพราะตอนนี้ปลามีจำนวนลดน้อยลงมาก เขาเห็นว่าลูกๆควรจะไปประกอบอาชีพอย่างอื่นจะดีกว่า
โดยปกติแล้ว ระดับน้ำแม่น้ำโขงจะเพิ่มสูงในช่วงฤดูฝน และเมื่อมาบรรจบกับแม่น้ำโตนเลสาบของกัมพูชา ก็จะเกิดกระแสน้ำไหลย้อนกลับอย่างผิดปกติลงสู่ทะเลสาบโตนเลสาบ และเข้าไปเติมเต็มแม่น้ำส่วนหลัง ทั้งยังเปิดทางให้ปลามาวางไข่อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสน้ำที่ไหลย้อนกลับมีความล่าช้าหรือหยุดชะงัก ดังนั้น ผู้ที่พึ่งพาทะเลสาบเพื่อหาเลี้ยงชีพจึงต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
ซอร์ มอม แม่ค้าปลาวัย 43 ปี ซึ่งรายได้ในแต่ละวันลดลงจาก 25 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 892 บาท) เหลือเพียง 5 ดอลลาร์ (ราว 178 บาท) ภายในปีเดียวกล่าวว่า มีหลายวันที่เธอต้องดิ้นรนเพื่อหารายได้ให้เพียงพอสำหรับซื้อข้าวหรือหาค่าน้ำมันเพื่อกลับบ้าน
ปัจจุบัน ทางการกัมพูชากำลังพยายามให้ความรู้แก่ชุมชนชาวประมงเกี่ยวกับแนวทางการทำฟาร์มอย่างมีความรับผิดชอบ การลดมลพิษทางน้ำ และวิธีการเปลี่ยนมาเลี้ยงปลาหรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทดแทนการจับปลาในธรรมชาติ
ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ และมีความเปราะบาง ซึ่งทำให้บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วต้องหันมาร่วมมือกันให้มากขึ้นในการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเร็วๆนี้
ย้อนไปในปี 2020 กระทรวงเกษตรกัมพูชาเปิดเผยว่า ปริมาณการจับปลาของกัมพูชาในแต่ละปีนั้นสร้างรายได้ราวปีละ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพบว่า การจับปลาในแหล่งน้ำจืดที่เคยอุดมสมบูรณ์อย่างมากเช่นที่โตนเลสาบนั้น ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ชาวประมงรายใหญ่บางรายที่ได้รับใบอนุญาตจับปลารายงานว่า ปริมาณปลาที่จับได้ลดลงถึง 31% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สถานการณ์ดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับปริมาณน้ำในทะเลสาบที่ลดลง โดยในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำในทะเลสาบโตนเลสาบลดลงถึง 2 เมตรซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนและโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำที่อยู่ทางต้นน้ำของแม่น้ำโขง
"พวกเราชาวประมงดำรงชีวิตพึ่งพาน้ำ ปลา และป่าไม้ เมื่อสิ่งเหล่านี้หายไป พวกเราก็หมดสิ้นความหวัง ทุกอย่างจบแล้ว" เล่ง วัน ชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยริมน้ำใกล้กับเมืองเสียมเรียบกล่าวอย่างสิ้นหวัง
ข้อมูลอ้างอิง