"CBAM" อาวุธของอียู ตั้งการ์ดแก้โลกร้อน ไทยพร้อมแค่ไหน ?

02 ม.ค. 2566 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ม.ค. 2566 | 18:04 น.

มาตรการ CBAM อาวุธของอียู ตั้งการ์ดแก้ปัญหาโลกร้อน เตรียมบังคับใช้ 1 ต.ค. 66 ก่อนเริ่มใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 69 ประเทศไทยพร้อมแค่ไหน ?

วิกฤตพลังงานและปัญหาเงินเฟ้อ สงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ยืดเยื้อ เสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย EU ยังคงเดินหน้าผลักดันนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM  เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกผลิตสินค้ามาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อียูกำหนด

 

กระบวนการออกกฎหมาย CBAM เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป  รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ผลการเจรจาล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ผลสรุปเป็นข้อตกลงชั่วคราวในบางประเด็น เช่น จะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยจะเริ่มต้นด้วยระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ก่อน 

 

 

 

การบังคับใช้ CBAM เดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า รวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า 

 

เเม้ผลกระทบจาก CBAM ต่อปริมาณสินค้าส่งออกของไทยจะไม่สูง เเต่คำถามสำคัญคือ ไทยพร้อมหรือยังกับแนวทางใหม่ของโลก และจะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่กำลังจะมาถึงอย่างไร ?

ล่าสุด รัฐบาลยืนยันว่าดำเนินการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO เป็นผู้ให้บริการรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ระดับ ผลิตภัณฑ์ องค์กร บุคคล และกิจกรรม

 

ผู้นำเข้าสินค้าไปยังตลาดอียูต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ประกอบการนำเข้า (ราคาใบรับรอง อ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู ราคาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2565 ประมาณ 85 ยูโรต่อ 1 ตันคาร์บอน)

 

ข้อมูลที่ต้องรายงาน ประกอบด้วย ปริมาณสินค้าทั้งหมด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมของสินค้าที่คำนวณตามหลักเกณฑ์ของกลไก CBAM ทั้งนี้ ค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า จะนำ Carbon Footprint มาใช้เป็นเครื่องมือประเมิน

 

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 การส่งออกสินค้าของไทยไปอียู ตามพิกัดสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 125.42 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก และน๊อตและสกรู มูลค่า 95.89 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก