เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จาก "ภาวะโลกร้อน" แม้ขนาดมนุษย์ก็ยังอยู่ลำบาก เเล้วบรรดา "สัตว์น้ำ" จะเป็นอย่างไร เเน่นอนว่าพวกมันต้องอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อกว่าสูญพันธุ์ยิ่งกว่าสัตว์ที่อยู่บนพื้นดิน เรากำลังพูดถึง "วิกฤติทะเล" เเละด้วยวันนี้ 3 เมษายน ของทุกปี คือ "วันสัตว์น้ำโลก" (World Aquatic Animal Day) "ฐานเศรษฐกิจ" จึงขอร่วมตระหนักความสำคัญของการอนุรักษ์โลกใต้น้ำ
ก่อนหน้านี้เหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New Jersey’s Rutgers มีการเปรียบเทียบผลกระทบของอุณหภูมิของมหาสมุทรและพื้นดินที่สูงขึ้นกับบรรดาสัตว์เลือดอุ่นและสัตว์เลือดเย็น สัตว์เลือดอุ่น ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าสัตว์เลือดเย็น แต่ความเสี่ยงของบรรดาสัตว์ทะเล เนื่องจากมหาสมุทรนั้นดูดซึมความร้อนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เป็นเหตุให้น้ำอยู่ในจุดที่อุ่นที่สุดในรอบทศวรรษ
อุณหภูมิในมหาสมุทรของโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าน้ำผิวมีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงล่วงหน้าถึงรูปแบบสภาพอากาศเอลนีโญที่คาดการณ์ไว้ซึ่งอาจเร่งให้โลกร้อนขึ้นอีก
อุณหภูมิผิวน้ำโดยเฉลี่ยสูงกว่า 21 องศาเซลเซียส
ประมาณกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข้อมูลการตรวจสอบอุณหภูมิในมหาสมุทรแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิผิวน้ำโดยเฉลี่ยสูงกว่า 21 องศาเซลเซียส (ประมาณ 70 องศาฟาเรนไฮต์) ทั่วโลก ไม่รวมน้ำในขั้วโลก เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1981 เป็นอย่างน้อย นั่นถึงการอุ่นขึ้นกว่าที่นักวิทยาศาสตร์สังเกตในช่วงเวลานี้ของปี 2559 เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงทำให้โลกบันทึกความอบอุ่นได้
เรื่องนี้สร้างความประหลาดใจและตื่นตระหนกให้กับนักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ แม้ว่าพวกเขาจะบอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสันนิษฐานว่าจะเป็นปีที่มหาสมุทรหรือโลกร้อนขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ อย่างน้อยที่สุด ข้อมูลบ่งชี้ว่าโลกซึ่งถูกห้อมล้อมด้วยความร้อนสูงอยู่แล้ว กำลังเข้าสู่ช่วงความร้อนที่เร่งขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้
การสังเกตอุณหภูมิของมหาสมุทรสอดคล้องกับการเผยแพร่รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ โดยยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่รุนแรงเพื่อชะลอ "ภาวะโลกร้อน" ที่ทำลายระบบนิเวศและชุมชนอย่างถาวร อุณหภูมิของโลกอยู่ในทิศทางที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1.1 องศาเซลเซียส (2 องศาฟาเรนไฮต์) ตั้งแต่มนุษย์เริ่มเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่ออุตสาหกรรมพลังงาน
พวกเขาระบุว่าปี 2023 กำลังจะก้าวไปอีกขั้นเป็นปีที่มหาสมุทรร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ (อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลอาจแตกต่างกันไปตามสภาพอากาศ แต่ในทุกความลึก มหาสมุทรของโลกจะค่อยๆ ร้อนขึ้นในแต่ละปีเนื่องจากการดูดซับความร้อนของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ)
มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยก็ในมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะแบบจำลองคาดการณ์บ่งชี้ว่าจะเกิด "ปรากฏการณ์เอลนีโญ" ในช่วงปลายฤดูร้อนหรือต้นฤดูใบไม้ร่วง
เอลนีโญเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลอย่างไร
เอลนีโญเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในแถบเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิก สามารถเร่งอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ เพราะน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อุ่นขึ้นทำให้เกิดการระเหยเพิ่มขึ้น นำไปสู่การปกคลุมของเมฆที่เพิ่มขึ้น ปิดกั้นไม่ให้แสงแดดส่องถึงพื้นผิวโลกและกระตุ้นให้เกิดความร้อนสะสมในชั้นบรรยากาศ
นักภูมิอากาศวิทยาและผู้อำนวยการสถาบัน NASA Goddard Institute for Space Studies กล่าวว่า แนวโน้มล่าสุดของอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นนั้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงไปสู่เอลนีโญจากอิทธิพลของการเย็นตัวลงของ "ปรากฎการณ์ลานีญา" ซึ่งเกิดจากน้ำผิวดินในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เย็นกว่าปกติยังคงมีอยู่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่นักสมุทรศาสตร์ของ NOAA ซึ่งเน้นการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเล ชี้ว่าแม้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้น แต่มหาสมุทรอื่นๆ ก็สามารถถ่วงดุลแนวโน้มดังกล่าวได้ นั่นหมายความว่า ยังเร็วเกินไปที่จะลงข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ร้อนเป็นประวัติการณ์
หากปรากฏการณ์เอลนีโญเต็มรูปแบบเกิดขึ้นในปีนี้ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศคาดว่าปี 2567 จะสร้างสถิติสูงสุดตามมา เมื่ออุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลกทั้งหมดก็เช่นกัน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นจากประมาณ 0.2 องศาเซลเซียส เหนือค่าเฉลี่ยปี 1991-2020 ในเดือนมกราคม ประมาณ 0.6 องศาเซลเซียส เหนือระดับดังกล่าวในกลางเดือนมีนาคม สภาพอากาศอบอุ่นเป็นพิเศษในเอเชีย อเมริกาเหนือตะวันออก และกรีนแลนด์