ในงานเสวนา “The Blue Carbon and Blue finance: The Sustainable Way for Achieving Net Zero” จัดโดยชมรมวิทยาการพลังงาน (ชวพน.) ได้หยิบยกนโยบายของประเทศไทยในมุมของความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่จะมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือยนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากระบบนิเวศทางทะเล หรือ Blue carbon จะเข้ามามีบทบาทช่วยสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายได้อีกทางหนึ่ง
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก.กล่าวว่า อบก.เป็นองค์กรที่ดูแลมาตรฐานการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งกลไกตลาด ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero ในปีค.ศ. 2065 ซึ่งแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อน จะเป็นเรื่องของการใช้ป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินดูดซับก๊าซเรือนกระจก ที่ตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปีค.ศ.2037-2065 จะต้องดูดซับได้ราว 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากปี ค.ศ.2018 ดูซับได้ 86 ล้านตัน
การให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อบก.ได้วางการดำเนินงานไว้ 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ ปัจจุบันมีอยู่ 102.04 ล้านไร่ ซึ่งจะต้องปลูกเพิ่มอีก 11.29 ล้านไร่ เป็นในส่วนของป่าชายเลนถึง 3 แสนไร่ ซึ่งมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็น Blue Carbon ได้ 2.ป่าเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 32.65 ล้านไร่ จะปลูกเพิ่มอีก 15.99 ล้านไร่ และ 3 .พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท ทั้งประเทศมีอยู่ราว 3 ล้านไร่ จะปลูกเพิ่มอีก 13.17 ล้านไร่ รวมปลูกป่าเพิ่ม 24.76 ล้านไร่
ทั้งนี้ การขับเคลื่อน Blue Carbon อบก.ได้เชิญชวนเอกชนที่สนใจเพิ่มพื้นที่สีเขียวปลูกป่าชายเลนผ่านการทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งได้รับความสนใจจากเอกชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นคาร์บอนที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าชนิดอื่น ๆ ซึ่งจากการศึกษาเก็บข้อมูลความโตของไม้สกุลโกงกาง ใน 9 จังหวัดชายฝั่งทะเล เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า พบว่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 9.4 ตันต่อปีต่อไร่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ป่าบนบกกักเก็บคาร์บอนได้ 1 ตันต่อปีต่อไร่
“ปัจจุบันอบก.มีมาตรฐานปลูกป่าชายเลน ผ่านโครงการ Premium T-Ver ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐาน 2 รูปแบบ คือ 1.การปลูกป่าชายเลนที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 30% จะต้องเริ่มปลูกป่าชายเลนใหม่ 2.กรณีที่มีการปลูกป่าชายเลนมากกว่า 30% ถือเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน โดยจะมีประเมินจากการสะสมปริมาณคาร์บอนในทุกมิติ”
นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ.มีแผนดำเนินการในเรื่อง Blue Carbon แบ่งเป็น 2 เรื่อง 1.การสร้างกรมใหม่ เป็นการถ่ายโอนภารกิจจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อรวมกับบุคลากรบางส่วนที่สผ.จะถ่ายโอน เตรียมรองรับการทำงานในหลายด้าน เช่น ด้านบัญชี ด้านการสร้างนวัตกรรม คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในรัฐบาลชุดใหม่ด้วย 2.การผลักดันกฎหมาย ซึ่งได้เสนอร่างกฎหมายต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว แต่สลค.มีความเห็นให้สผ.เพิ่มเติมรายละเอียดในร่างกฎหมายดังกล่าว 6 ประเด็น เช่น Carbon Price, Carbon Credit, Carbon Market ฯลฯ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับ Blue Carbon ทำให้สผ.ต้องเริ่มศึกษาใหม่ตั้งแต่แรก
อย่างไรก็ตาม สผ.พยายามเร่งดำเนินการในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน คาดว่าจะเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ภายในรัฐบาลชุดใหม่ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปี หรือภายในเดือนธันวาคม 2568
นอกจากนี้ ในปี 2567 จะมีการประชุม COP CVD จัดขึ้นที่ประเทศตุรกี ซึ่งเป็นการประชุมที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เกิดความคงอยู่และการแก้ไขปัญหาของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญไม่ต่างจากการประชุม COP Climate Change ขณะที่ Carbon Credit ,Blue Cradit เป็นเพียงตัวเร่งในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้อย่างยั่งยืน
นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญิบริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน Climate Change เป็นเรื่องที่กระทบทั่วทั้งโลก ไทยต้องเร่งผลักดัน Blue Carbon อย่างจริงจัง เพราะถือเป็นด่านแรกในการดูแลชายฝั่งทะเลและระบบนิเวศชายฝั่ง ที่จะช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เมื่อเกิด Climate Change โดยปัจจุบันพบว่าประเทศสิงค์โปร์ได้เริ่ม ผลักดันเรื่อง Blue Carbon แล้ว
ทั้งนี้ มีกลยุทธ์ในการดูแล Green Carbon, Blue Carbon และการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ โดยได้เร่งผลักดันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ผ่านกลยุทธ์ขององค์กร ได้แก่ 1.การปรับกระบวนการผลิต เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 2.การปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยมุ่งเน้นสู่ Low Carbon Society 3.การปลูกป่าเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี ค.ศ.2030 เมื่อรวมกับพื้นที่ปลูกป่าที่ดำเนินการแล้ว 1.1 ล้านไร่ จะทำให้ปตท.มีพื้นที่ราว 3.1 ล้านไร่ เป็นสัดส่วนป่าบกราว 90% และป่าชายเลนราว 10% ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 4.15 ล้านตันในปี ค.ศ.2050
ล่าสุด กลุ่มปตท.ได้เร่งปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ ซึ่งได้ลงนามเอ็มโอยู 3 ฉบับ กับกรมป่าไม้ ในโครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้ โครงการพัฒนาพื้นที่ปลูก บำรุงรักษา และระบบนิเวศป่าไม้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และโครงการปลูกและบารุงรักษาป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้แล้ว