10 เมษายน 2566 - กระแสการทำธุรกิจ และขยายอุตสาหกรรม ที่เน้นความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถูกปลุกด้วยวิธีการใหม่ๆ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน ในการลดภาวะโลกร้อน เดินทางไปสู่ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ให้ได้เร็วที่สุด
เช่นเดียวกับการขยับในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ล่าสุด “ซีแพค” ได้ผสานความร่วมมือ “วัน แบงค็อก” เดินหน้ายกระดับมาตรฐานก่อสร้างของไทยนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” มาเริ่มใช้ที่โครงการวัน แบงค็อก เป็นที่แรกในประเทศไทย ตอกย้ำจุดยืนด้านงานก่อสร้างสีเขียว Green Construction เช่นกัน
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เผยว่า ที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทฯ ได้มีการวางแผนงานร่วมกัน โดยซีแพคได้เข้าไปดูแลตั้งแต่การเทคอนกรีตฐานรากโครงสร้างอาคาร (Mat Foundation) และได้เลือกใช้คอนกรีตความร้อนต่ำ (CPAC Low Heat Concrete) ซึ่งเป็นคอนกรีตที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน (Low Carbon Concrete) รวมถึงมีการขนส่งคอนกรีตภายในไซต์งานก่อสร้าง เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียวในอนาคต
รถโม่พลังงานไฟฟ้า ลดคาร์บอน 26.5 ตัน/ปี/คัน
สำหรับรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2593 (2050) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนแทน น้ำมันดีเซล
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบในการใช้งานแล้ว รถโม่พลังงานไฟฟ้าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ได้ถึง 45 กรัมต่อการขนส่ง 1 เที่ยว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) กลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)ได้ถึง 26.5 ตัน/ปี/คัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้เพิ่มขึ้น 2,800 ต้น/ปี/คัน
โดยการดำเนินงานครั้งนี้นับเป็นความตั้งใจ และความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาซีแพคยึดตามแนวทางนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ที่มีการนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ (Waste Heat Power Generator) การใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าสำหรับขนส่งภายในโรงงาน และการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มาจนถึงการผลิต Low Carbon Concrete คอนกรีตคาร์บอนต่ำอีกด้วย
วัน แบงค็อก ต้นแบบเป็นกลางทางคาร์บอน
นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “วัน แบงค็อก โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ พร้อมมาตรฐานคุณภาพสูงสุด ที่ครบครันใจกลางกรุงเทพฯ พัฒนาขึ้นบนวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Evolving Bangkok” มุ่งสู่การเป็นต้นแบบของการกำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการก่อสร้างแบบยั่งยืนในประเทศไทย
ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น ซึ่งเราได้ร่วมมือกับ “เอสซีจี” และ “ซีแพค” เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างคุณค่าด้วยการวางแนวปฏิบัติภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)
โดยที่ผ่านมา วัน แบงค็อก, เอสซีจี ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริหารการก่อสร้างโครงการอย่างยั่งยืน ทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ การนำเศษคอนกรีตจากการตัดเสาหัวเข็มที่เหลือใช้มารีไซเคิลเพื่อผลิตผนังหล่อสำเร็จรูป, การนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างมารีไซเคิลและผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน (Q-CON Sound Barrier)
เพื่อใช้ในบริเวณผนังอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการฯ, การจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม และ การจัดการเศษอาหารด้วยเครื่องย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ซึ่งครั้งนี้การนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck เข้ามาใช้ในโครงการฯ จะเข้ามาช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย”
ทั้งนี้ผลจากการดำเนินงาน การนำ “รถโม่พลังงานไฟฟ้า” เข้ามาใช้ขนส่งคอนกรีตภายในไซต์งานแทนรถโม่ธรรมดา พบว่าถ้าใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck โดยประมาณ 1,800 เที่ยว/คัน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 49,000 kg./(CO2) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ 5,210 ต้น นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมที่วางไว้