ถอดบทเรียน “การธนาคารที่ยั่งยืน” จาก “ซีไอเอ็มบีไทย”

17 พ.ค. 2566 | 23:00 น.
อัพเดตล่าสุด :25 พ.ค. 2566 | 08:08 น.

ถอดบทเรียน “การธนาคารที่ยั่งยืน” จาก “ซีไอเอ็มบีไทย”กับหน่วยงานความยั่งยืน ที่มุ่งสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงบวก

แนวคิด “ความยั่งยืน” แทรกซึมเข้าสู่ภาคธุรกิจต่างๆ ทั่วโลก เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” (sustainable development) เพราะทุกภาคส่วนต้องการช่วยกันลงมือลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

โดยเฉพาะ “ภาคธนาคาร” เรียกว่ามีองค์ประกอบที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์และในการปล่อยสินเชื่อ การค้นหาโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงินในสาขาใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับความยั่งยืน

สถาบันการเงิน ถือเป็นอีกตัวกลางที่ขาดไม่ได้ในระบบเศรษฐกิจ เเต่น้อยคนที่จะเห็นภาพว่าธนาคารนั้นสร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร จะก้าวสู่ความยั่งยืนได้อย่างไร มีประโยชน์ทางธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่วิถี “การธนาคารที่ยั่งยืน”

นี่คือตัวอย่างจาก “ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย” หนึ่งในสถาบันการเงินที่มุ่งเน้นความยั่งยืนและผลกระทบต่อสังคม และจุดเริ่มต้นของการก่อตั้ง “หน่วยงานความยั่งยืน” ของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย

จุดเริ่มต้นหน่วยงานความยั่งยืนของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

เจสัน ลี (Jason Lee) ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนที่ได้รับการรับรองจาก GRI ซึ่งขับเคลื่อนวาระ ESG และความยั่งยืน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย หนึ่งในสมาชิกกลุ่มซีไอเอ็มบี กล่าวว่า ธนาคารเป็นสมาชิก United Nations Environment Program Finance Initiative ซึ่งมีหลักการว่า ธนาคารต้องมีความรับผิดชอบต่องสังคม มีเป้าหมายสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย และความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เขาเล่าว่า หน่วยความยั่งยืนของธนาคารฯ ในประเทศไทย ก่อตั้งมาเมื่อปี 2020 โดยมี 4 กลยุทธ์สำคัญ คือ Sustainability in Action , Sustainable Business , Governance Risk , Stakeholder Engagement and Advocacy

“ซีไอเอ็มบีไทยมีวัตถุประสงค์เป็นธนาคารยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ธนาคารไม่ได้สนใจแค่รายได้ หรือกำไร แต่ต้องการให้ธนาคารเติบโต จึงต้องเดินตามสิ่งที่รัฐบาล สังคม เเละตลาด ต้องการ โดยมีกลยุทธ์ เช่น การบริหารจัดการระบบต่างๆ ของธนาคารมีผลกับสังคม โฟกัสการเงินที่ยั่งยืน ทีมงานจึงต้องไปสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการหาสินเชื่อสีเขียว รวมทั้งต้องดูนโยบายของไทยที่ตอนนี้มีเน็ตซีโร่ ธนาคารก็ต้องประเมินการปล่อยสินเชื่อ นอกจากนั้นก็ต้องไปคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่พนักงาน ผู้ขาย ภาครัฐ ผู้ลงทุน สุดท้ายต้องแจ้งออกมาในรายงานประจำปี”

เจสัน ลี (Jason Lee)

 

Next Step แผนความยั่งยืนของซีไอเอ็มบีไทย

เจสัน ลี  อธิบายว่า ธนาคารมีแผนสอดคล้องกับองค์กรสหประชาชาติ และเป้าหมาย Net Zero รวมทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 สำหรับเป้าหมายของธนาคารเองคาดว่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2030

"ต้องการพิสูจน์ธนาคารว่ามีความรับผิดชอบแค่ไหน จึงตั้งเป้าว่าจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ต้องลดให้ได้ทั้งหมด เช่น ต้องใช้โซล่าเซลล์ ใช้รถอีวี ใช้ทุกอย่างที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมทั้งเรื่องสินเชื่อที่ปล่อยออกมา ถ้าเราออกสินเชื่อให้ลูกค้า แต่ลูกค้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ก็ต้องมาพิจารณาการให้สินเชื่อ หรือดูว่าจะช่วยลูกค้าได้อย่างไรเพื่อให้ลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม ทั้งหมดนี้มีกำหนดในปี 2050 ต้องเปลี่ยนระบบ คิดทุกอย่างที่เป็นเรื่องความยั่งยืน ด้านสังคมก็ต้องมีกลยุทธ์ ดูแลสิทธิมนุษยชนภายในองค์กร ตรวจสอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่น ซับพลายเออร์ ว่าต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกสาขา ทุกผลิตภัณฑ์ ต้องดีขึ้น ลูกค้าเข้าถึงบริการต่างๆ ทุกชนชั้น"  

เจสัน ลี  ยังเพิ่มเติมว่า ในอนาคตธนาคารกำลังพิจารณาการช่วยเหลืออุตสาหกรรมต่างๆ ที่พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่อาจส่งผลต่อแรงงาน

“เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่กำลังคุยกับยูเอ็นประเทศไทยว่าจะสร้างกรีนจ็อบอย่างไร ถ้าผู้ประกอบการต้องการออกจากการปล่อยคาร์บอน จำเป็นต้องสร้างโอกาสให้เเรงงาน ซึ่งก็ต้องระดมทุน สถาบันการเงินก็ต้องสนับสนุน เราต้องคิดถึงพนักงานเหล่านี้ว่าสุดท้ายแล้วหากอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านจะหางานใหม่ได้อย่างไร หรือทำงานในด้านอื่นอย่างไร ก็ต้องมีการรีสกิล อัพสกิล”

ย้อนมองเส้นทาง Sustainable ไทยไปต่ออย่างไร  

เจสัน ลี  อธิบายในประเด็นนี้ว่า ความรู้เรื่องความยั่งยืนของประเทศไทยอาจยังไม่เท่าประเทศสิงคโปร์หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจำเป็นอย่างมากที่ไทยจะต้องเร่งพัฒนา หนึ่งในตัวแปรสำคัญก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐ

“หลายคนยังไม่รู้ว่าความยั่งยืนคืออะไร ส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็น CSR บริจาค เช่น ปลูกต้นไม้ เก็บขวดมารีไซเคิล ซึ่งก็ใช่ แต่ไม่ได้มาตรฐานความยั่งยืน เราต้องมารู้ว่าทำไมแอนตี้พลาสติก ทำไมต้องประหยัดไฟ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกคืออะไร สิ่งที่สำคัญ ต้องแชร์ความยั่งยืนเพื่อให้การจิตสำนึกไม่ใช่การบังคับ ถ้าอยากสร้างจีดีพีและอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รัฐต้องมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน แต่ละกระทรวงมีแผนเชื่อมโยง สังคม สิ่งแวดล้อม รัฐต้องคิดกลยุทธ์ที่ครบถ้วนว่าจะสนับสนุนอย่างไร ต้องช่วยสร้างความรู้ให้ผู้ประกอบการเเละบาลานซ์เศรษฐกิจไปพร้อมกัน”

ถอดบทเรียน “การธนาคารที่ยั่งยืน” จาก “ซีไอเอ็มบีไทย”