นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.เตรียมที่จะขอความร่วมมือกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ให้ลงศึกษาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (สงขลา) และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) เพื่อช่วยให้คำแนะนำด้านการบริหารจัดการพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งบริษัท บี.กริมฯ ให้ความสนใจและพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในพื้นที่ร่วมกัน
ทั้งนี้ ล่าสุด กนอ. ได้ไปที่โรงไฟฟ้าบี.กริม สาขานิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม และพลังงานหมุนเวียน พร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
โดยโรงไฟฟ้าของบี.กริมได้ทดลองใช้พลังงานสะอาดในระบบไมโครกริด (Microgrid : ระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟได้โดยไม่ต้องเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า เช่น ระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบต่างๆ รวมถึงระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และระบบการจัดการพลังงานไฟฟ้า)
ซึ่งทำระบบเชื่อมต่อระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์ และไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติให้เชื่อมต่อกันอย่างมีเสถียรภาพ
นอกจากนี้ หากในอนาคตสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุญาตให้ทดลองนำไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเข้า Grid จะเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการไฟฟ้าอีกรูปแบบหนึ่งด้วย
สำหรับความคืบหน้าของการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามแผนพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเฟสที่ 3 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งสามารถขยายความจุท่าเรือตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี (รวมทั้ง 3 ระยะ) โดยออกแบบเป็นรูปตัว U มีความยาวหน้าท่า 2 กิโลเมตร ความลึก 18 เมตร สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้ารุ่นใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีระยะกินน้ำลึกเพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ท่าเรือแหลมฉบัง ขณะนี้กำลังพัฒนาอยู่ในเฟส 3 และมีนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะประเด็นการเชื่อมโยงด้านการขนส่งสินค้า (Logistic) จากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ซึ่งหากในอนาคตมีการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งตู้สินค้าทางรางได้”
อย่างไรก็ดี กนอ. ยังได้ศึกษาดูงานที่บริษัท แอร์ ลิควิด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งประกอบกิจการแยกก๊าซไนโตรเจน ออกซิเจน และก๊าซอาร์กอน เพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยการดำเนินการดังกล่าวเพื่อหาข้อมูลสนับสนุนแนวคิดของ กนอ. ในการนำไฮโดรเจนมาผลิตพลังงานต่อไปในอนาคต เนื่องจากบริษัท แอร์ ลิควิดฯ มีการประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายไฮโดรเจน ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด