มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนสี ภาวะโลกร้อนอาจเป็นตัวการ

13 ก.ค. 2566 | 09:00 น.
อัพเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2566 | 09:02 น.

มากกว่าครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรของโลกเปลี่ยนสีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Climate Change หรือ "โลกรวน"

"ภาวะโลกร้อน" ได้เปลี่ยนแปลงอย่างบนโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบนิเวศของคนเเละสัตว์ สภาพอากาศ แต่ไม่ใช่เเค่บนบกจะเปลี่ยนแปลงเพียงเท่านั้น ยังมีงานศึกษาที่พบว่า มหาสมุทรกำลังเปลี่ยนสี ด้วยเพราะโลกร้อน

งานวิจัยใหม่ที่เผยแพร่ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของสีในมหาสมุทรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่าพื้นที่ดินทั้งหมดของโลก ผู้เขียนการศึกษาในวารสาร Nature คิดว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแพลงก์ตอนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของใยอาหารทางทะเลและมีส่วนสำคัญในการทำให้สภาพอากาศของเรามีเสถียรภาพ

เหตุผลที่พวกเขาสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสีก็เพราะสีสะท้อนถึงสถานะของระบบนิเวศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของสีจึงหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ BB Cael ผู้เขียนนำจากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของอังกฤษกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี 

สีน้ำเงินเข้มจะบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตไม่มาก ในขณะที่ถ้าน้ำมีสีเขียวมากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่ามีความหลากหลาย เช่น มีแพลงตอนพืชที่สังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งเหมือนกับพืชที่มีคลอโรฟิลล์สีเขียว สิ่งเหล่านี้ผลิตออกซิเจนจำนวนมากที่เราใช้หายใจ

เป็นส่วนสำคัญของ วัฏจักรคาร์บอนทั่วโลก (Carbon Cycle) คือ การหมุนเวียนหรือการแลกเปลี่ยนธาตุคาร์บอนในสถานะต่าง ๆ ระหว่างดิน หิน แหล่งน้ำ ชั้นบรรยากาศ และสิ่งมีชีวิต ซึ่งนับเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Reservoir) ที่สำคัญของโลก และเป็นส่วนสำคัญของใยอาหารในมหาสมุทรด้วย 

นักวิจัยกระตือรือร้นที่จะพัฒนาวิธีการติดตามการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวิธีการป้องกัน แต่การศึกษาก่อนหน้านี้ได้แนะนำว่า เราจำเป็นต้องเฝ้าติดตามคลอโรฟิลล์ในมหาสมุทรเป็นเวลา 3 ทศวรรษ เพื่อตรวจหาแนวโน้มเนื่องจากความผันแปรในแต่ละปี

ในการศึกษาล่าสุด นักวิจัยได้ขยายสเปกตรัมสี โดยดูที่ 7 เฉดสีของมหาสมุทร จากดาวเทียม MODIS-Aqua  เพราะสิ่งเหล่านี้บอบบางเกินกว่าที่มนุษย์จะมองเห็นได้ และจะมองด้วยตาเปล่าเป็นสีน้ำเงินเป็นส่วนใหญ่ พบว่า 56% ของมหาสมุทรทั่วโลก ซึ่งเป็นอาณาเขตที่ใหญ่กว่าพื้นที่ทั้งหมดบนโลก มีการเปลี่ยนสีระหว่างปี 2545-2565 

การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมส่วนใหญ่สอดคล้องกับแบบจำลองที่ Dutkiewicz ทำในปี 2019 ซึ่งจำลองมหาสมุทรของโลกภายใต้ 2 สถานการณ์ สถานการณ์หนึ่งมีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเข้ามา และอีกสถานการณ์หนึ่งไม่มีก๊าซเรือนกระจก แบบจำลองก๊าซเรือนกระจกคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของสีอาจเกิดขึ้นในประมาณ 50% ของมหาสมุทรพื้นผิวโลกภายใน 20 ปี

สีของมหาสมุทรเป็นผลมาจากสิ่งที่อยู่ในชั้นบนสุด โดยทั่วไปแล้ว ยิ่งแพลงก์ตอนพืช จุลินทรีย์ที่มีคลอโรฟิลล์ ซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมทางน้ำมากเท่าไหร่ น้ำก็ยิ่งมีสีเขียวมากขึ้นเท่านั้น มหาสมุทรยังมีสารอินทรีย์ที่ดูดซับแสงซึ่งสามารถเปลี่ยนสีของน้ำจากสีน้ำเงินเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาลได้ ขึ้นอยู่กับระดับความเข้มข้นของน้ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเปลี่ยนแปลงของสี แม้ว่าบางครั้งจะบอบบางต่อสายตามนุษย์ แต่ก็ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตและสสารต่างๆ ในน้ำทะเล

“สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์แนวโน้มบอกเราว่าสีกำลังเปลี่ยนไป แต่ไม่ได้บอกว่ามันเปลี่ยนไปอย่างไร” Stephanie Dutkiewicz นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์และผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าว  เเต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับภาวะโลกร้อนจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่ากิจกรรมของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกในระดับพื้นที่มากเพียงใด

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคุกคามมหาสมุทรทั่วโลกและสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพามหาสมุทรมากมาย ตัวอย่างเช่น หมีขั้วโลกอาจหายไปส่วนใหญ่ภายในสิ้นศตวรรษนี้หากภาวะโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่การศึกษาในปี 2020 เตือน โดยอ้างถึงการสูญเสียที่น่าตกใจของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก เเละการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งพบว่าแนวปะการังครึ่งหนึ่งของโลกได้ถูกทำลายไปแล้วโดยน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นและมีกรดในมหาสมุทร

ข้อมูล : 

bnnbloombergaljazeera , yahoo , ngthai