นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) เปิดเผยว่า TIPMSE ได้ดำเนินการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเตรียมความพร้อมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการในการนำหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) มาสู่การปฏิบัติทั้งภาคสมัครใจและรองรับกฎหมาย EPR ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2570 ผ่านการสัมมนา "Propak Asia 2023”
ทั้งนี้ EPR คือ หลักการในการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิตให้ครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ
“คาดว่ากฎหมาย EPR จะมีการบังคับใช้ราวปี 2570 ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวและเตรียมความพร้อม ดังนั้นต้องมีความเข้าใจถึงข้อกฎหมายและรายละเอียดที่ต้องดำเนินการเพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย”
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี รองผู้อำนวยการใหญ่และรักษาการผู้อำนวยการ TIPMSE กล่าวว่า EPR เป็นเครื่องมือเชิงนโยบาย ที่มุ่งส่งเสริมการจัดระบบเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อนำไปรีไซเคิลสอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
โดยที่ผ่านมา TIPMSE ซึ่งเป็นองค์กรหลักของภาคเอกชนได้เริ่มนำร่องทำโครงการ EPR ภาคสมัครใจภายใต้โครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืนขึ้นในจังหวัดชลบุรี 3 พื้นที่ ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง เนื่องจากมีความหลากหลายของพื้นที่ทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีศูนย์รวบรวมบรรจุภัณฑ์ และมีความเป็นทั้งเมืองและชนบท
ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่คุณค่าได้มีส่วนร่วม ทั้งภาคชุมชน ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า ผู้จัดเก็บรวบรวมรายกลางและรายใหญ่ เพื่อพัฒนาต้นแบบ EPR ของประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียน และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประกอบในการจัดทำร่างกฎหมายรวมถึงการขยายผลไปใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป
"TIPMSE ยังร่วมกับภาครัฐผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยเป้าหมายสำคัญ คือ การทำให้ EPR เป็นเครื่องมือในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่ภาคเอกชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางเพื่อประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายและทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนต่อไปได้"
ผศ.ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อประเทศไทยปลอดขยะ (CEWT) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ร่างกฎหมายต่อการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนตามหลักการ EPR หรือที่จะมีการเรียกว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ฉบับนี้ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2568 และจะนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของรัฐสภา ซึ่งตามกำหนดการช่วงเวลาที่วางไว้ น่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2570
“การทำกฎหมายมองว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ของการเกิดธุรกิจ BCG มากขึ้น ซึ่งไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว ทั้งภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และวงจรของการรับคืนบรรจุภัณฑ์”
นายเลิศฤทธิ์ เลิศวัฒนวัลลี บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการจัดการขยะและบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ดังนั้นการนำหลักการ EPR มาใช้ในภาคบังคับ นับเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทั้ง ซัพพลายเออร์ (Supplier) และ เจ้าของแบรนด์(Brand Owner) ซึ่งแบรนด์ต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุน ในส่วนของผู้บริโภค จะต้องมีการให้ความรู้และเข้าใจในเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.จัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน จะสามารถเดินหน้าได้ แต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่
นายอรชัย อัจฉรานุกูล ผู้บริหาร บริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของไทย บริษัทขนาดใหญ่ มีความพร้อมอยู่แล้ว ที่จะมีส่วนร่วม เพราะขณะนี้ยังมีเวลาปรับตัวและการเตรียมตัว ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อาจได้รับผลกระทบบ้าง ซึ่งเห็นว่าภาครัฐ ควรให้การสนับสนุนเพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมก่อน ดังนั้นมองว่ากฎหมายฉบับนี้ จะเป็นโอกาส ทั้งในด้านประกอบธุรกิจและเกิดการสร้างอาชีพใหม่ๆให้เกิดขึ้น