โลกร้อน “ทะเลสาบติติกากา”ทะเลสาบน้ำจืด​ที่สูงที่สุดในโลกกำลังแห้งเหือด

04 ก.ย. 2566 | 08:00 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2566 | 08:02 น.

“ทะเลสาบติติกากา”ทะเลสาบน้ำจืดที่สามารถเดินเรือทางพาณิชย์ที่สูงที่สุดในโลกกำลังแห้งเหือด จากภาวะโลกร้อน กำลังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ประมง เเละการเกษตร

ระดับน้ำที่ ทะเลสาบติติกากา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่สูงที่สุดในโลกและใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีส บริเวณชายแดนของประเทศเปรูและประเทศโบลิเวีย กำลังลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากคลื่นความร้อนในฤดูหนาวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การลดลงอย่างน่าตกใจกำลังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การประมง และการเกษตร ซึ่งคนในท้องถิ่นต้องพึ่งพาเพื่อหาเลี้ยงชีพ โดยมีตัวเลขผู้คนมากกว่า 3 ล้านคน อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบ อาศัยการตกปลา ทำฟาร์ม สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของพื้นที่ชายขอบ

สะท้อนจากบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าว CNN โดยผู้ที่อาศัยอยู่ริมทะเลสาบเเละหาเลี้ยงชีพ โดยนั่งเรือข้ามฟากรับส่งนักท่องเที่ยวโดยรอบน่านน้ำ “ไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไรตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนธันวาคม เพราะน้ำจะลดลงเรื่อยๆ” นาซาริโอ ชาร์กา วัย 63 ปี กล่าว

รายงานข่าวระบุว่า นักท่องเที่ยวมักหลงใหลผืนน้ำสีฟ้าของทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้แห่งนี้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 3,200 ตารางไมล์ ที่นี่เป็นที่ตั้งของชุมชนพื้นเมือง Aymara, Quechua และ Uros และตั้งอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 3,800 เมตร (12,500 ฟุต) ในเทือกเขาแอนดีสตอนกลาง ทำให้เป็นทะเลสาบที่สามารถเดินเรือทางพานิชย์ที่สูงที่สุดในโลก เเละด้วยระดับความสูงขนาดนี้ยังทำให้ทะเลสาบได้รับรังสีแสงอาทิตย์ในระดับสูง ซึ่งช่วยเพิ่มการระเหยและทำให้เกิดการสูญเสียน้ำ

 

ตามรายงานชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าระดับน้ำจะผันผวนในแต่ละปี แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้รุนแรงมากขึ้นเนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เทย์เลอร์ วอร์ด นักอุตุนิยมวิทยาของ CNN กล่าวว่า คลื่นความร้อนในฤดูหนาวที่ทำลายสถิติได้นำไปสู่การระเหยที่เพิ่มขึ้น และลดระดับทะเลสาบเนื่องจากภัยแล้ง

ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึง 49% ตั้งแต่ สิงหาคม 2565 - มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่รวมฤดูฝนซึ่งระดับน้ำมักจะฟื้นตัวด้วย โดยภายในเดือนธันวาคม ระดับน้ำจะมุ่งสู่ระดับต่ำสุดที่บันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 1996 

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ระดับน้ำในทะเลสาบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการศึกษาล่าสุดซึ่งตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี 1992-2020 แสดงให้เห็นว่าทะเลสาบติติกากากำลังสูญเสียน้ำประมาณ 120 ล้านเมตริกตันต่อปี 

ด้านชุมชนที่พึ่งพาการประมงกำลังดิ้นรนเนื่องจากระดับน้ำที่ต่ำ เพราะปริมาณปลาที่ลดลงเนื่องจากมลภาวะและการประมงมากเกินไป ส่วนเกษตรกรรมก็ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยหน่วยงานระดับภูมิภาครายงานว่าพืชผลได้รับความเดือดร้อนอย่างเลวร้ายในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่แล้ว พืชควินัวและมันฝรั่งส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในท้องถิ่น ได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับข้าวโอ๊ตที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์

ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเช่นกัน หลังจากเรือที่ใช้โดยสารข้ามฟากนักท่องเที่ยวรอบทะเลสาบติดค้างในขณะที่น้ำลด

ส่วนภูมิภาคปูโนซึ่งล้อมรอบทะเลสาบติติกากาฝั่งเปรูทั้งหมด ที่รู้จักมายาวนานว่าเป็นภูมิภาคที่ด้อยพัฒนาและชายขอบของประเทศ ล่าสุด เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และกระแสความไม่สงบทางสังคม

ปูโนกลายเป็นศูนย์กลางของการประท้วงเรียกร้องให้ ประธานาธิบดีดีนา โบลัวร์เต ลาออก เพราะความโกรธแค้นที่ปะทุขึ้น เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันมานานหลายทศวรรษ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริต และมาตรฐานการครองชีพที่ซบเซา จึงน่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลที่ผลักดันนักท่องเที่ยวไม่ได้เดินทางไปยังภูมิภาคนี้ระหว่างการประท้วง เเละในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากได้ออกจากพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดใหญ่

ขณะที่ข้อมูลเมื่อเร็วๆ นี้ชี้ให้เห็นว่าภัยแล้งที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องอาจผลักดันให้ผู้คนจำนวนมากต้องออกจากบ้าน เนื่องจากภัยแล้งครั้งก่อนในปี 1991 ทำให้เกิดคลื่นของการอพยพย้ายถิ่น เพราะเศรษฐกิจพอเพียงพังทลายลงเนื่องจากขาดอาหาร

"เอลนีโญ" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากอุณหภูมิที่อุ่นกว่าปกติในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในอเมริกาใต้ได้อย่างมหาศาล กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญบอกกับซีเอ็นเอ็นว่า อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 เป็นอย่างน้อย สถานการณ์นี้จำเป็นต้องมีการดำเนินการระยะยาวเพื่อปกป้องชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาทะเลสาบ โดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนในการจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากความผันผวนของระดับน้ำที่รุนแรงยิ่งขึ้น