ภาวะโลกร้อน เสี่ยงทะลุเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 7 ปี

06 ธ.ค. 2566 | 02:35 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2566 | 02:50 น.

การวิจัยใหม่จากทีมวิทยาศาสตร์โครงการคาร์บอนทั่วโลก เผยให้เห็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2566 ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงอาจทำให้โลกทะลุเกณฑ์ภาวะโลกร้อน 1.5 องศา ในเวลา 7 ปี ท่ามกลางการประชุม COP28 ที่ดูไบ

เป้าหมายที่ทะเยอทะยาน คือ 1.5 องศาเซลเซียส ได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น เพราะมีหลักฐานปรากฏว่า ภาวะโลกร้อน ที่เกินกว่านี้อาจทำให้เกิดจุดเปลี่ยนที่เป็นอันตรายและไม่สามารถย้อนกลับได้ เพื่อรักษาขีดจำกัดดังกล่าว คณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์สภาพภูมิอากาศของ IPCC ของสหประชาชาติ กล่าวว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำเป็นต้องลดลงครึ่งหนึ่งในทศวรรษนี้ นั่นกำลังกลายเป็นงานที่ท้าทายมากขึ้นเมื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2566 โลกอยู่ในเส้นทางการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซมากขึ้น ซึ่งมากกว่าที่เคยทำได้ในปีที่แล้ว (2565) ตามรายงานของ "โครงการคาร์บอนทั่วโลก" มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 1.1% ท่ามกลางช่วงเวลาที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเพื่อหยุดยั้งสภาพอากาศสุดขั้วไม่ให้รุนแรงขึ้น

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำโลกมาพบกันที่ ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่เต็มไปด้วยปัญหา

 

โครงการคาร์บอนทั่วโลก พบว่า แม้การเติบโตของการปล่อยคาร์บอนได้ชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ปริมาณที่ปล่อยออกมาในแต่ละปียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในปี 2566 จะแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 40.9 กิกะตัน โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะใน "จีนและอินเดีย" ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 1 และ 3 ของโลก ตามลำดับ 

หากโลกยังคงปล่อยคาร์บอนในอัตรานั้น ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติมากกว่า 120 คนพบว่า มีโอกาส 50 เปอร์เซ็นต์ที่ภาวะโลกร้อนจะเกินเป้าหมายของข้อตกลงปารีสที่ตั้งไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 หรือ 7 ปี แม้ว่าพวกเขาจะสังเกตเห็นความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการทำให้โลกร้อนขึ้นจากก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ใช่คาร์บอนไดออกไซด์ก็ตาม

ขณะที่มีรายงานแยกต่างหากที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาโดย Climate Action Tracker (CAT) เพิ่มการคาดการณ์เล็กน้อยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนในอนาคตที่สูงกว่าประมาณการที่ทำในการประชุมที่กลาสโกว์เมื่อสองปีที่แล้ว นั่นหมายความว่า 2 ปีหลังจาก การประชุม COP26 ที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แคลร์ สต็อคเวลล์ นักวิเคราะห์จาก Climate Analytics และผู้เขียนหลักของรายงาน CAT กล่าว (อ้างอิงการรายงานจาก the guardian)

ข้อค้นพบที่สำคัญอื่นจากโครงการคาร์บอนทั่วโลกปี 2023

แนวโน้มในระดับภูมิภาคมีความแตกต่างกันอย่างมาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นในอินเดีย (8.2%) และจีน (4.0%) และการลดลงในสหภาพยุโรป (-7.4%) สหรัฐอเมริกา (-3.0%) และส่วนที่เหลือของโลก (-0.4%) นั่นทำให้ อินเดีย แซงหน้าสหภาพยุโรปในฐานะผู้ปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่อันดับ 3 ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ทั้งในอินเดียและจีน ความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นแซงหน้าการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีนัยสำคัญ

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจากถ่านหิน (1.1%) น้ำมัน (1.5%) และก๊าซ (0.5%) คาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ คาดว่าจะอยู่ที่ 419.3 ส่วนต่อล้านในปี 2023 ซึ่งสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมถึง 51%

ประมาณครึ่งหนึ่งของคาร์บอนที่ปล่อยออกมาทั้งหมดยังคงยู่บนบกและในมหาสมุทรและส่วนที่เหลือยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การปล่อยคาร์บอนทั่วโลก จากเพลิงไหม้ในปี 2023 สูงกว่าค่าเฉลี่ย (อิงตามบันทึกของดาวเทียมตั้งแต่ปี 2003) เนื่องจากฤดูไฟป่าที่รุนแรงในแคนาดา ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าค่าเฉลี่ย 6 – 8 เท่า

ระดับการกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์โดยอาศัยเทคโนโลยีในปัจจุบัน (ไม่รวมวิธีการจากธรรมชาติ เช่น การปลูกป่า) มีจำนวนประมาณ 0.01 ล้านตันคาร์บอน ซึ่งน้อยกว่าการปล่อยคาร์บอนจากฟอสซิลในปัจจุบันมากกว่าล้านเท่า

อ่านรายงานฉบับเต็ม  Global Carbon Budget 2023

ที่มาข้อมูล 

globalcarbonbudget

theguardian

channelnewsasia