ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

01 ก.ค. 2567 | 07:09 น.

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทย ในการเปิดเผยข้อมูล ESG ในรายงาน SET ESG Data Showcase: Carbon Emission ของบริษัทจดทะเบียนไทย จัดทำโดย ศิริยศ จุฑานนท์ ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคต คือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรขององค์กรและผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ การพัฒนาตลาดทุนให้ยั่งยืน ด้วยการช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแรง แก่ผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการช่วยยกระดับคุณภาพและพัฒนา ศักยภาพให้ธุรกิจสามารถเติบโตและมีผลประกอบการที่ขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งมีความมั่นคงทางการเงินไปพร้อมกับการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักบรรษัทภิบาล

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พัฒนาระบบ ESG Data Platform ที่มีจุดเด่น คือ การออกแบบชุดข้อมูลที่เป็น Structured Data ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม และข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก ประกอบด้วยข้อมูล ESG พื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ปริมาณการใช้พลังงาน และทรัพยากร ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคณะกรรมการบริษัท และเชื่อมต่อกับระบบนำส่งรายงาน 56-1 One Report

ระบบ ESG Data Platform มีจุดเด่น คือ การออกแบบชุดข้อมูลที่มีการจัดเรียงโครงสร้างอย่างชัดเจนหรือ Structured Data ที่เน้นนำเสนอข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรม และข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก โดยจะรวบรวมข้อมูล ESG พื้นฐานที่จำเป็นและเริ่มเผยแพร่ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ ของตลาดหลักทรัพย์ฯในระบบ SETSMART ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

เมื่อพิจารณาข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) จากฐาน ESG Data Platform บริษัทที่จดทะเบียน (บจ.) ใน SET และ mai ทั้งหมด 835 บริษัท มีผลที่น่าสนใจดังนี้

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

บจ. ที่รายงานปริมาณการปล่อย GHG มีจำนวน 445 บริษัทในปี 2023 (คิดเป็น 50.3% ของบริษัททั้งหมด) เพิ่มขึ้นจาก 342 ในปี 2022 (คิดเป็นเพิ่มขึ้น 30%) ขณะที่จำนวนบริษัทที่ผ่านการทวนสอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยผู้ทวนสอบเพิ่มขึ้น 47%

ปริมาณการปล่อย GHG ที่รายงานมาในปีล่าสุดอยู่ที่ 634 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลง 6.1% จากปีก่อน

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูง ได้แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มบริการ นอกจากนี้พบว่าปริมาณการปล่อย GHG สัมพันธ์กับปริมาณการใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

ในที่ประชุม COP26 ตัวแทนของไทยให้คำมั่นว่าจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065

การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดเอง (Nationally Determined Contribution: NDC) ของประเทศไทยจะดำเนินการผ่านแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC Roadmap on Mitigation) ระหว่างปี 2021-2030 ซึ่งแสดงศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในปี 2030 เป็นจำนวน 115.6 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สาขาที่มีศักยภาพสูงสุดในการลดคือ ภาคพลังงานและการขนส่ง โดยมีมาตรการสำคัญ คือการส่งเสริมการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานหลักและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกิจกรรมอุตสาหกรรมและการขนส่ง 

บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ที่มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นคิดเป็น 24% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด และมีส่วนต่างระหว่าง เป้าหมายการปล่อยและปริมาณการปล่อย GHG จริงในปี 2023 อยู่ที่ 2.1 เท่า

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

กลุ่มอุตสาหกรรมมีจำนวนบริษัทที่มีการตั้งเป้าควบคุมการปล่อย GHG มากที่สุดได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี คิดเป็น 41% ของจำนวนบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งหากพิจารณาส่วนต่างระหว่างเป้าหมายและปริมาณการปล่อย GHG ในปี 2023 ของกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ที่ 0.9% เท่านั้น

ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีปริมาณการปล่อย GHG สูงอย่างเช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง รวมถึง กลุ่มบริการ มีการตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นค่อนข้างท้าทาย แสดงให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวตระหนักถึงความสำคัญ และจำเป็นต้องเร่งจัดทำแผนงานการติดตามความคืบหน้าที่ชัดเจนเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ

การเปิดเผยข้อมูลการปล่อย Scope 1 และ Scope 2 มีสัดส่วนมากกว่า Scope 3 ซึ่งยังเป็นการเปิดเผยตามความสมัครใจ นอกจากนี้ การรายงาน Scope 3 เป็นเรื่องยากเนื่องจากมีความซับซ้อนหลายประการที่ทำให้การเก็บรวบรวมข้อมูลท้าทายมากกว่าโดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีทรัพยากรค่อนข้างน้อย

ความพร้อมบริษัทจดทะเบียนไทยในการเปิดเผยข้อมูล ESG

การเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ บริษัทจำเป็นต้องมีการวางแผนและจัดการที่ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG ของบริษัทจดทะเบียน เช่น กรณีที่ภาครัฐให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) ทำให้มีบจ.ที่ไม่ได้อยู๋ใน SET ESG มีแรงจูงใจในการเปิดเผยข้อมูลการปล่อย GHG เพิ่มขึ้น 43% YoY

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดเผยข้อมูล การให้แรงจูงใจโดยการลดค่าธรรมเนียมกับบจ. การให้ความรู้รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง