กระทรวงอุตฯ ลุยลดคาร์บอน 7.2 ล้านตัน ชูลดเผาอ้อย-ดันโรงไฟฟ้าชีวมวล

10 ส.ค. 2567 | 07:39 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 07:53 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของภาครัฐ ที่ดำเนินตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมมือกับ 13 หน่วยงานทั้งจากภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ทำโครงการอุตสาหกรรมรวมใจลดคาร์บอนไทย 7.2 ล้านตัน

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างความยั่งยืนให้สังคม-สิ่งแวดล้อม และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จะดำเนินการผ่านกิจกรรม 298 กิจกรรม แบ่งการดำเนินงาน 8 ด้าน อาทิ

1.การลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และเกษตร จำนวน 13 กิจกรรม เช่น กิจกรรมการรณรงค์ลดการเผาอ้อย กิจกรรมการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ทำเหมืองแร่ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกิจกรรมการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว คาดว่าจะลดคาร์บอนได้ 2,934,277 ตัน

2.การยกระดับผู้ประกอบการสู่มาตรฐานการลดการปล่อย หรือการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก จำนวน 1 กิจกรรม คาดว่าลดคาร์บอนได้ 2 ล้านตัน คือกิจกรรมการตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานภายใต้การรับรองระบบงาน โดย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการดำเนินการ เช่น ประกาศสาขาการรับรองระบบงานหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก

3.การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 209 กิจกรรม ลดคาร์บอนได้ 1,140,429 ตัน เป็นการดำเนินการต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงานลดการใช้นํ้ามันดีเซล โดยเปลี่ยนจากการใช้รถโฟล์คลิฟท์นํ้ามันเป็นรถโพล์คลิฟท์ไฟฟ้า การนำใบและยอดอ้อยไปใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงานนํ้าตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ต่อเนื่องจากโรงงานนํ้าตาล

กระทรวงอุตฯ ลุยลดคาร์บอน 7.2 ล้านตัน ชูลดเผาอ้อย-ดันโรงไฟฟ้าชีวมวล

“จะเห็นได้จากปีการผลิต 2565/2566 มีอ้อยส่งเข้าหีบโรงงานนํ้าตาล 57 แห่ง ปริมาณอ้อย 93.8879 ล้านตัน มีปริมาณใบและยอดอ้อย 10.7281 ล้านตัน แบ่งเป็นปริมาณใบอ้อยที่ใช้คลุมดิน 4.4175 ล้านตัน ปริมาณใบและยอดอ้อยที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง 6.3107 ล้านตัน หากมีการนำใบและยอดอ้อย 6.3107 ล้านตัน ไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นไฟฟ้า จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 217.17 เมกะวัตต์ สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่ง”

4.การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและโรงงาน จำนวน 44 กิจกรรม ลดคาร์บอนได้ 796,525 ตัน เช่น กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม (IoT, AI, Capacitor bank) และการลดของเสียจากกระบวนการผลิต (By-product / Industrial waste)

การเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน และการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อขอรับการรับรองฉลากที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานก๊าซเรือนกระจก เช่น Carbon Footprint of Organization (CFO) Carbon Footprint of Product (CFP) เป็นต้น

5.การจัดการสารเคมี จำนวน 3 กิจกรรม ลดคาร์บอนได้ 200,961 ตัน อาทิ กิจกรรมเผาทำลายสารทำความเย็น ผ่านเตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบด (Fluidized Bed) ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องควบคุมประสิทธิภาพในการเผาทำลายให้ไม่น้อยกว่า 99.99% ซึ่งเป็นการกำจัดสารทำความเย็นอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และถูกต้องตามมาตรฐาน โดยในปี 2566 สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อนได้มากกว่า 1.2 ล้านตันของคาร์บอน

6.การส่งเสริมและปรับเปลี่ยนมาตรฐานด้านยานยนต์ จำนวน 5 กิจกรรม ลดคาร์บอนได้ 91,873 ตัน เช่น การควบคุมปริมาณสารมลพิษจากรถยนต์ มาตรฐาน EURO 5 และการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) โดยการผลักดันนโยบายและมาตรการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การเพิ่มเติมกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้า

รวมทั้ง การกำหนดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ หรือมาตรการ EV3 และ EV 3.5 ทำให้ตลาด BEV ไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และมีผู้ประกอบการหลายรายให้ความสนใจที่จะลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนในประเทศ

7.การบริหารจัดการทรัพยากร (นํ้า /ของเสีย / วัตถุดิบ) จำนวน 10 กิจกรรม คาดว่าจะลดคาร์บอนได้ 31,145 ตัน เช่น กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการกากอุตสาหกรรม และกิจกรรมการส่งเสริมเทคโนโลยีการบริหารจัดการนํ้า การจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบ

โครงการส่งเสริมการออกแบบตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มียกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมให้มีการประยุกต์หลักการ Circular Economy ในการออกแบบ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จะช่วยให้อัตราการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานประกอบการอุตสาหกรรมลดลง และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตามแนวทาง Design for Circular Economy

8.การส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก (Hydraulic Cement) จำนวน 13 กิจกรรม ลดคาร์บอนได้ 1,586 ตัน โดยการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก การใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก แทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ (Portland Cement) ในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคนิคมฯ Smart Park ทั้งนี้การใช้ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะก่อสร้างได้ถึงประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม หรือ เท่ากับปลูกต้นไม้ได้ประมาณ 200,000 ต้น