สำหรับผลงานนวัตกรรมทั้ง 7 ชิ้นที่ สจล. นำเสนอ ได้แก่ รถตู้โมบายล์ Swab Test ระบบตรวจจับอุณหภูมิด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อน เครื่องช่วยหายใจ (Mini Emergency Ventilator) เครื่องผลิตโอโซนสำหรับฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันบวก ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันลบ และหุ่นยนต์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์ ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้สามารถใช้ในการตรวจคัดกรอง และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้จริง โดย สจล. ได้ส่งมอบนวัตกรรมเหล่านี้ไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 200 โรงพยาบาล ทั้งนี้ สจล. ได้นำเสนอนวัตกรรมสู้โควิด-19 ให้แก่นายกรัฐมนตรี ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สจล. ได้ก่อตั้งศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 ขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่งเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมนวัตกรรมสู้โควิด-19 เพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน หรือในภาวะที่ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศได้ โดยทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สจล. ได้ผลิตนวัตกรรมสู้โควิด-19 และส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วกว่า 200 โรงพยาบาล
นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของศูนย์รวมนวัตกรรมดังกล่าว โดยล่าสุด สจล. ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมทั้ง 7 ชิ้นให้แก่นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย รถตู้โมบายล์ Swab Test ระบบตรวจจับอุณหภูมิด้วยกล้องถ่ายภาพความร้อน เครื่องช่วยหายใจ (Mini Emergency Ventilator) เครื่องผลิตโอโซนสำหรับฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันบวก ตู้ตรวจเชื้อแบบความดันลบ และหุ่นยนต์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์ พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานของศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ที่สามารถผลิตนวัตกรรมสู้โควิด-19 และส่งมอบเพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทั้งในไทย และต่างประเทศ ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มความสามารถ
ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะดีขึ้น แต่ สจล. ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์สู้โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมีแนวคิดที่จะจัดตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือวิกฤตโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยได้เรียนรู้ว่า เรามีความสามารถในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม สจล. ยังคงเห็นโอกาสในการยกระดับวงการการแพทย์ไทย ด้วยการผลักดันให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผลิตขึ้นโดยฝีมือคนไทย เพื่อความพร้อมในการรับมือทุกวิกฤติ”