จัดเต็ม“อีโคซิสเต็ม” วังจันทร์ วัลเลย์ ติดปีกธุรกิจไทย

01 ธ.ค. 2565 | 02:30 น.

เดินหน้าเต็มตัว 5 โซน EECi วางโครงสร้างพื้นฐานและเครื่องมือสนับสนุน รองรับการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรม AIS ชี้ไทยแถวหน้า 5Gโลก พร้อมเปิดเวทีธุรกิจพัฒนาโซลูชั่นยกระดับการประกอบการ ไทยคิดใหญ่พัฒนาเองเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน พร้อมแผนพัฒนากำลังคนรองรับงานไฮเทค

การเสวนา EECi ศูนย์กลางสร้างนวัตกรรมสู่เวทีโลก ในการสัมมนารายการ The Big Issue 2022 : EECi พลิกโฉมประเทศไทยสู่ศูนย์กลางนวัตกรรมภูมิภาค จัดโดย ฐานดิจิทัล วิทยากรที่ร่วมเสวนาเห็นพ้องว่า เทคโนโลยีไอที โครงสร้างพื้นฐานการวิจัย ที่จะเกิดขึ้นเป็นนิเวศการวิจัยในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซีไอ.) จะเป็นตัวช่วยสำคัญยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอีอีซีและประเทศไทยในอนาคต

 

คนไทยไม่แพ้ใครเรื่องประยุกต์เทคโนโลยี

โครงสร้างพื้นฐานหนึ่งของนิเวศการวิจัยคือสถาบันการศึกษา ในอีอีซีไอ.มีทั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่มุ่งความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้ว ยังมีเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนากำลังคนรองรับการลงทุนในอีอีซี

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านการพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า อีอีซีไอให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการลงทุนนวัตกรรม ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอีอีซี และเนื่องจากไทยไม่ใช่ผู้นำด้านเทคโนโลยี ดังนั้น เรื่องการดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ 

 

“อีอีซีไอ เราสนใจการพัฒนาเทคโนโลยี ลงทุนอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มทุน ประเทศไทยไม่ได้มีงบมาก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจึงสำคัญ เราออกงบบูรณาการหนึ่งบาท และจำเป็นต้องให้เอกชนมาช่วยเราอีกห้าบาท โดยต้องสร้างความมั่นใจว่า จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ 200 บาท นี่คิดสิ่งที่เรากำลังทำที่อีอีซีไอ และสิ่งที่เราทำจะต้องไม่อยู่บนหิ้ง แต่ต้องเกิดอุตสาหกรรมได้” ดร.ชิต กล่าว

สำหรับการเตรียมพร้อมรองรับการลงทุน เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย โครงสร้างพื้นฐานเชิงกายภาพ การวางโครงสร้าง ท่อ เสา สายสัญญาณ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี และการตั้งศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) คลาวด์ (Cloud) และข้อมูลกลาง (Common Data Lake) เพื่อใช้ในการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ได้จากการส่งสัญญาณของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเครื่องจักรในโรงงาน ต่อยอดการใช้ประโยชน์ของข้อมูลที่ได้ในอนาคต นอกจากนี้ ในพื้นที่อีอีซี ยังตั้งสัญญาณ 5G ครบ 100% แล้ว ทำให้ไทยประเทศแรกในอาเซียนที่มี 5G ครอบคลุมทั้งประเทศ

 

ปูพรม 5G ในอีอีซีสร้างมูลค่าปีละ 5 ล้านล้าน

ด้าน เอไอเอส.เผย เทคโนโลยี 5G ส่งผลต่อ GDP ประเทศไทยในปี 2035 เติบโต 10.12% หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.3-5 ล้านล้านบาท นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารลูกค้ากลุ่มองค์กร AIS บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอส มุ่งมั่นพัฒนาเครือข่าย 5G สร้างแพลทฟอร์มรองรับการเจริญเติบโตร่วมมือกับองค์กร ชั้นนำต่าง ๆ อาทิ ร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ ไทย จำกัด ทดลองทดสอบ Solutions 5G remote controlled forklift สามารถครอบคลุมผ่านระยะไกลบนเครือข่าย 5G โดยผู้ที่ควบคุมรถไม่ต้องอยู่ที่เดียวกับรถ แต่สามารถควบคุมรถให้เคลื่อนย้าย จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ต้องการได้แบบเรียลไทม์และแม่นยำ เวลานี้เปิดรับให้ผู้ประกอบการทุกระดับเข้ามาพัฒนาโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหายกระดับการประกอบการ

 

นายธนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เอไอเอส ลงทุนต่อเนื่องปีละ 30,000 -35,000 ล้านต่อปี เพื่อขยายเครือข่าย และความครอบคลุมของ network โดย ในพื้นที่ EEC เทคโนโลยี 5G ครอบคลุมพื้นที่กว่า 85% สำหรับผลกการนำเทคโนโลยีมาใช้ 5G ต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าเทคโนโลยี 5G จะมีผลต่อGDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross domestic product) ประเทศไทยในปี 2035 เติบโต 10.12% หรือคิดเป็นมูลค่า 2.3-5 ล้านล้านบาท

 

ไทยทำเอง‘เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน’ศักยภาพสูง

ขณะที่ ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการโครงการสร้างเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3 GeV และห้องปฎิบัติการ สถาบันแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ซึ่งจะตั้งในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) ว่า โครงการนี้นับเป็นความท้าทายของประเทศไทย หลังจากสถาบันฯ กำลังผลักดันการพัฒนา ‘เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน’ ขึ้นใช้เองในประเทศ สำหรับงานวิจัยด้านการแพทย์ เกษตรอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ในพื้นที่ EECi ซึ่งหากแล้วเสร็จ จะนับเป็นเครื่องแรกจากฝีมือคนไทย และเป็นเครื่องที่ 2 ของประเทศ หลังจากเครื่องแรกที่มีการใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับการบริจาคมาจากประเทศญี่ปุ่น ใช้งานมานานถึง 20 ปี และถึงขีดจำกัดแล้ว

 

เป้าหมายข้างต้นเพื่อต้องการเพิ่มศักยภาพของ EECi ให้เหนือชั้น เทียบเท่าประเทศต้นแบบ อย่างประเทศจีน ที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ ผ่านการมีศูนย์วิจัยด้วยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนถึง 3 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 5 แห่งด้วย

 

ดร.ประพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังประหยัดงบได้กว่าเท่าตัว และได้สร้างองค์ความรู้ระหว่างการพัฒนา ส่วนในอนาคตยังจะได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน จะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ระดับโมเลกุล โครงสร้างเชิงลึกของวัสดุประเภทต่าง ๆ องค์ความรู้ระดับโมเลกุล ระดับเอ็นไซม์หรือเซลล์ของไวรัส จะช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ พลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,840 วันที่ 1-3 ธันวาคม พ.ศ.2565