รัฐบาลดิจิทัลไทย ไต่สู่อันดับ 52 ของโลก ครองอันดับ 2 อาเซียน

25 ก.ย. 2567 | 08:48 น.
อัพเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2567 | 08:58 น.

DGA เผยดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ปี 2024 สหประชาชาติ ประเทศไทยไต่ขึ้นสู่อันดับที่ 52 จาก 193 ประเทศทั่วโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 55 โดยยังถือเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ตั้งเป้าปี 70 ขยับสู่อันดับ 40

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)  หรือ DGA  เปิดเผยว่าประเทศไทยไต่ขึ้นสู่อันดับที่ 52 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ในดัชนีการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGDI) ปี 2024 จัดโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นพัฒนาการที่น่าภาคภูมิใจเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 55

รัฐบาลดิจิทัลไทย ไต่สู่อันดับ 52 ของโลก ครองอันดับ 2 อาเซียน

โดยยังถือเป็น อันดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและความสำเร็จในการพัฒนาระบบดิจิทัลของภาครัฐไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล DGA ได้กล่าวว่า ดัชนี EGDI ปี 2024 ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จของไทยในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลนั้น เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการให้บริการภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือช่วยทำให้กระบวนการทำงานมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่งเสริมการกระจายข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง รวมถึงการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

รัฐบาลดิจิทัลไทย ไต่สู่อันดับ 52 ของโลก ครองอันดับ 2 อาเซียน

ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพรทองธาร ชินวัตร รัฐบาลมีแผนจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพให้เป็นระบบที่ทันสมัยมากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับขนาดองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณ และสร้างความคล่องตัวในกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐ นโยบายนี้จะเน้นการยกระดับความสามารถของบุคลากรให้มีทั้งคุณธรรมและความเชี่ยวชาญ เพื่อให้การให้บริการของภาครัฐเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง

ด้านนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในปีนี้เป็นผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกันพัฒนาบริการดิจิทัลในรูปแบบใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการสร้าง แพลตฟอร์มกลางทางดิจิทัล หรือ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่รองรับการบริการประชาชนในทุกด้าน ตัวอย่างเช่น แอปทางรัฐ ซึ่งเป็นซูเปอร์แอปที่รวมบริการต่างๆ ของรัฐกว่า 153 บริการไว้อย่างครบครัน

รัฐบาลดิจิทัลไทย ไต่สู่อันดับ 52 ของโลก ครองอันดับ 2 อาเซียน

หนึ่งในความก้าวหน้าที่สำคัญในปีนี้คือการพัฒนาดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HCI) ซึ่งไทยได้คะแนน 0.8032 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นจาก 0.7879 ในปี 2565 นอกจากนี้ ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index: TII) ก็มีความก้าวหน้ามาก โดยในปี 2567 ไทยได้คะแนน 0.941 เพิ่มขึ้นจากคะแนนเดิมที่ 0.7338 ในปี 2565

แม้ว่าดัชนีการบริการออนไลน์ (Online Service Index: OSI) ของไทยจะลดลงเล็กน้อยจาก 0.7763 ในปี 2565 เป็น 0.7611 ในปี 2567 แต่ยังคงมีพัฒนาการในตัวชี้วัดย่อย เช่น กรอบโครงสร้างสถาบัน (Institutional Framework) ที่ได้รับคะแนนเต็ม 1.00 และ เนื้อหาบนเว็บไซต์ภาครัฐ (Content Provision) ที่ได้คะแนน 0.8889 นอกจากนี้ การให้บริการ (Service Provision) ยังมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 0.6933 ในปี 2565 เป็น 0.6988 ในปี 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่ชัดเจนในการพัฒนาการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล

ความสำเร็จเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญที่จะพาประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นหนึ่งในอันดับที่ 40 ของโลก ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ใน แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ปี 2568–2570 ซึ่งจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาบริการดิจิทัลของภาครัฐให้ประชาชนได้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย