วันนี้ (13 มี.ค. 66) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมเวที “มติชน : เลือกตั้ง 2566 บทใหม่ประเทศไทย” โดยร่วมดีเบตกับพรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อ นโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟท์พาวเวอร์
นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก นักท่องเที่ยวมาไทย เพราะเรามีทุนทางวัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนไทย ซึ่งทุนทางวัฒนธรรม สามารถทำให้กลายเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญได้ โดยการขับเคลื่อนมีหลายมิติ 5 ด้าน ได้แก่
1.อาหาร ต้องมีการผลักดันอาหารไทย 2. เฟสติวัล เรามีสเน่ห์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3. แฟชั่น ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางแฟชั่น 4. ฟิล์ม และ 5.มวยไทย
โดยการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ 1. นโยบายต้องชัดเจน ไม่เป็นนโยบายที่เป็นวาทกรรม 2. งบประมาณ ต้องมีเพียงพอในการขับเคลื่อน และ 3. กลไกรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง กระทรวงต่าง ๆ ที่ต้องบูรณาการ และปรับแผนงาน สามสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศไทย
ในช่วงสุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงวิสัยทัศน์ นายสนธิรัตน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า หากเลือกพรรคพลังประชารัฐ ได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ และจะมีหลายสิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่ 1. ไม่มีความขัดแย้ง นี่คือจุดยืนสำคัญของพรรค จะสร้างสมดุลทางการเมือง ไม่เข้าสู่กลไกความขัดแย้ง เพราะ พล.อ.ประวิตร เปิดใจแล้วว่าอยากนำพาคนไทย และการเมืองไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง
2.ค่าครองชีพลดทันที จะปฏิรูปราคาน้ำมัน สร้างรายได้ให้ประชาชน โดยโซล่าเซลล์ และ Net metering
และ 3.ปรับโครงสร้างราคาแก๊ส โดยดูโครงสร้างแก๊สในอ่าวไทย
4. ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มจากบัตรสวัสดิการ 700 บาท และต่อยอดสิ่งเหล่านี้ด้วยกลไกสร้างอาชีพ ให้โอกาส และเพิ่มทักษะ
5.คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการดูแล เบี้ยยังชีพ 3,000-5,000 บาท ตามช่วงอายุ 60-80 ปี
6.เศรษฐกิจฐานรากต้องฟื้น จะนำพาทุกคนสร้างงาน เราประกาศนโยบายมีที่ทำกิน ไม่มีแล้ง รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนกระจายสู่ฐานราก
“สำหรับพี่น้องเอสเอ็มอี พรรคพลังประชารัฐจะทำให้ท่านตั้งตัวได้ผ่านกองทุน เติมเงิน เติมทุน พร้อมพัฒนาทักษะ รวมถึงยกระดับเครื่องยนต์เศรษฐกิจเดิม พัฒนาสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว เปลี่ยนพืชพลังงาน เป็นไบโอเจ็ท รวมถึงธุรกิจอาหาร และรถอีวี นี่คือความมุ่งมั่นของพรรคพลังประชารัฐ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” นายสนธิรัตน์ ระบุ
ต่อมาเป็นช่วงตอบคำถาม ในคำถามเรื่องหากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขร่างใหม่ หรือดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน ว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ เมื่อบังคับใช้ไประยะเวลาหนึ่งแล้วจะเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง
หากเรื่องใดไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือ เกิดข้อถกเถียงในเรื่องมุมมองความคิดก็สามารถแก้ไขได้ และหัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ ประโยชน์ของประชาชน
นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พรรคเป็นห่วงมากที่สุด คือ ไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการหยิบจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองมาสร้างความแตกแยก ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งไปสู่ความขัดแย้ง พรรคจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง
นายสนธิรัตน์ ยังได้ตอบคำถามในเรื่องการกระจายอำนาจว่าคิดอย่างไรที่ประเทศไทยมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมี อบต. เทศบาล และ อบจ. และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ว่า หนึ่งในหัวใจที่นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ คือ การกระจายอำนาจ แต่ทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากส่วนกลางทั้งกระทรวง ทบวง กรม มีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ
“ต้องยอมรับว่า คนที่อยู่ใกล้พี่น้องประชาชน และเข้าใจปัญหาพื้นที่ได้ดีที่สุดคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขอเรียนว่า พรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เพราะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจ การรวมศูนย์ต้องลดบทบาทลง”
ขณะเดียวกันต้องเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่น ทั้งในด้านงบประมาณ กฎหมาย และอัตรากำลัง ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นโมเดลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ บางจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจที่โต และมีรูปแบบพร้อมต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ก็เช่น จ.ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีบทบาทในการดูแลจังหวัดของเขามากยิ่งขึ้น