กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ ขณะที่ผู้มีสิทธิ 52 ล้านคน 

11 เม.ย. 2566 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :11 เม.ย. 2566 | 05:04 น.

กกต.พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ ขณะที่ผู้มีสิทธิ 52 ล้านคน ชี้ต้องมีบัตรสำรองไว้บางส่วน ยังไม่เคาะสีบัตรเขต-บัญชีรายชื่อ ชี้เปิดก่อนเพื่อประชาสัมพันธ์หน้าตาของบัตรแต่ละประเภท ยังไม่ใช่ของจริง

วันนี้ (11 เม.ย.66) นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 52 ล้านคน จะมีการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งประมาณ 57 ล้านใบ  ซึ่งการแจกบัตรเลือกตั้งต้องแจกเต็มเล่ม ไม่มีการตัด หรือ การแยก
เนื่องจากการจ่ายบัตรเลือกตั้งจะจ่ายตามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ไม่ได้  อีกทั้งจะต้องสำรองบัตรบางส่วนไว้ แต่จะสำรองให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น หากสำรองมากจะเกิดปัญหา


ส่วนมาตรการป้องกันการปลอมแปลงบัตรเลือกตั้งนั้น บัตรมีระบบรักษาความปลอดภัย สามารถตรวจสอบได้ว่าบัตรที่นำมาใช้เป็นบัตรจริงหรือปลอม มีกระบวนการตรวจสอบสี เนื้อกระดาษที่จัดพิมพ์ ป้องกันการแอบอ้างนำบัตรมาใช้  แต่ไม่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดกระบวนการตรวจสอบได้  

เมื่อถามว่าขณะนี้พรรคการเมืองได้มีการประชาสัมพันธ์ว่าบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็นบัตรสีเขียว ความชัดเจนเป็นอย่างไร นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า บัตรเลือกตั้งที่ กกต.มีการประชาสัมพันธ์ออกไปก่อนหน้านั้น เจตนาต้องการให้ประชาชนรับทราบถึงรูปแบบว่า บัตรเลือกตั้งแต่ละประเภทมีสาระสำคัญในบัตรอย่างไรบ้าง ไม่ได้ผูกโยงถึงเรื่องสีบัตรเลือกตั้ง

ส่วนสีบัตรที่ประชาสัมพันธ์ออกไปไม่ใช่สีที่ใช้สำหรับบัตรเลือกตั้งในครั้งนี้  เพราะ กกต.ยังไม่ได้มีการกำหนดสีบัตรเลือกตั้ง  ซึ่งจะประชาสัมพันธ์เรื่องสีของบัตรเลือกตั้งแน่นอนหลังจากการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งแล้ว 

นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า รูปแบบบัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จะกำหนดช่องทำเครื่องหมาย กับหมายเลขของผู้สมัครเท่านั้น  ส่วนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะมีรายละเอียดหมายเลขประจำพรรค ชื่อพรรค โลโกพรรค และ ช่องทำเครื่องหมาย ซึ่งแตกต่างจากการบัตรเลือกเมื่อเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว จึงต้องออกเป็นการผสมผสานระหว่างบัตรแบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ เพราะต้องนำคะแนนเขตไปคำนวณคะแนนบัญชีรายชื่อ จึงออกแบบให้โยงถึงพรรคการเมือง 

แต่ครั้งนี้บัตร 2 ใบลักษณะคู่ขนาน โดยบัตรแบ่งเขตการไม่กำหนดรายละเอียดคล้ายกับบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ข้อดีจะไม่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ครั้งนี้ผู้สมัครเขตสูงสุด 20 คน ไม่เกินขีดความสามารถของประชาชน  ขนาดของบัตรเลือกตั้งแตกต่างกัน แต่รายละเอียดของบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายมากจะมากเพราะมีถึง 67 พรรค 

อีกทั้งหน้าหน่วยเลือกตั้งแต่ละพื้นที่ก็จะมีป้ายปิดประกาศผู้สมัครและพรรคการเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการลงคะแนน ย้ำว่าบัตรเลือกตั้งต้องทำตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพราะมาตรา 84 กำหนดไว้อย่างชัดเจน