ปชป.เปิดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 55 จังหวัด พลิกโฉมประเทศไทย

12 พ.ค. 2566 | 00:11 น.

สัมภาษณ์พิเศษ “เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดนโยบายปั้นเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ 55 จังหวัด แม่เหล็กดึงลงทุน พลิกเศรษฐกิจ เปลี่ยนโฉมภาคประเทศไทย

พรรคประชาธิปัตย์ กางตำราสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 ระดมมือหนึ่งแทบทุกด้านเข้ามาร่วมกันเค้นนโยบายหาเสียง หนึ่งในนั้นคือ “เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ ฐานเศรษฐกิจมีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงนโยบายหาเสียงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 โดยมีเรื่องน่าสนใจคือการผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศในรูปแบบของคลัสเตอร์สินค้าเกษตรสำคัญในแต่ละพื้นที่

“เกียรติ สิทธีอมร” เริ่มต้นว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตรับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป หัวใจคือต้องเปลี่ยนประเทศไทยจากเมืองเกษตรเป็นเมืองแห่งอาหาร แทนที่จะไปขายข้าวแบบกระสอบเหมือนที่ผ่านมา ต้องเปลี่ยนไปขายอาหารสำเร็จรูป หรืออาการปรุงสุก กำไรสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับขายข้าวกำไรแค่ 3%

 

“เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์

จับกลุ่มคลัสเตอร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แนวทางการขับเคลื่อนการทำงาน พรรคประชาธิปัตย์มีแนวคิดที่ชัดเจนมากในเรื่องนี้ เพราะถือเป็นการวางแผนอนาคตของประเทศไทยในระยะยาว ผ่านการจับกลุ่มคลัสเตอร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจน เพื่อไปสู่การแปรรูปสินค้าเกษตรในพื้นที่ สร้างรายได้ และผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปจากเดิม

เขาแย้มว่า ที่ผ่านมาพยายามนั่งทำเรื่องนี้ออกมาเป็นนโยบายด้วยความตั้งใจ โดยมีแผนการทำงานชัดเจน โดยจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นคลัสเตอร์ข้าวออกมาเป็นการเฉพาะ เช่น คลัสเตอร์ข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยา ครอบคลุม 4-5 จังหวัด ทั้งสุพรรณบุรี ชัยนาท และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา

“ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่คุยกับนายกสมาคมโรงสีข้าว และคนที่เกี่ยวข้องว่าจะให้เกษตรกรในพื้นที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจแล้วมาถือหั้นในโรงสียอมไหม เขาก็ตกลง จะได้เป็นหุ้นส่วนกันในการแปรรูปแล้วได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ไล่บี้กันไปมาด้วยราคา หากแปรรูปกำไรจะอยู่ตรงนี้ และเกษตรกรจะได้ส่วนแบ่งไปด้วย”

 

“เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์

ไม่ขัดต่อหลัก WTO

แต่อย่างไรก็ดี ต้องทำความเข้าใจว่าการผลักดันให้เป็นคลัสเตอร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ยังถือว่าเป็นการทำนโยบายที่สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งการให้สิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ในพื้นที่ สามารถทำได้โดยที่ไม่ใช่การไปอุดหนุนที่ขัดต่อหลักของ WTO ด้วย 

ดัน 55 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เบื้องต้นการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษแบบคลัสเตอร์ ที่ผ่านมาได้คิดลงลึกไปในรายละเอียดหลายด้าน เช่น การเลือกจังหวัดที่จะขับเคลื่อนทั้งสิ้น 55 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการจับกลุ่มเป็นคลัสเตอร์สินค้าเกษตรที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง และจังหวัดใกล้เคียงมาอยู่ด้วยกัน ยกตัวอย่างดังนี้

  • เขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าพระยา คลัสเตอร์ข้าว มีจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ 
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษทุ่งกุลาร้องไห้ คลัสเตอร์ข้าวหอมมะลิ ออแกนิค มีจังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ และสุรินทร์ 
  • เขตเศรษฐกิจพิเศษน้ำตาล คลัสเตอร์น้ำตาล และอ้อย มีจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม 

นอกจากนี้ยังมี เขตเศรษฐกิจพิเศษยางพารา เขตเศรษฐกิจพิเศษมันสำปะหลัง เขตเศรษฐกิจพิเศษปาล์ม เขตเศรษฐกิจพิเศษผลไม้ ซึ่งสินค้าเกษตรบางภาคอาจมีเหมือนกัน และสามารถส่งเสริมเป็นคลัสเตอร์ได้ ตามความเหมาะสมของพืชเกษตรชนิดนั้น ๆ ในพื้นที่ของจังหวัดตัวเอง

 

“เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์

 

ดัน BCG ภาคการท่องเที่ยว

ขณะเดียวกันมีอีกส่วนที่กำหนดอยู่ในนโยบายที่สอดคล้องกับคลัสเตอร์ของเขตเศรษฐกิจพิเศษ คือ BCG ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะกลายมาเป็นอนาคตของการท่องเที่ยวของไทยต่อไปภายภาคหน้า โดยสามารถนำแนวคิดและเครื่องมือของการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ มาตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้ด้วย 

แนวคิดนี้จะตอบรับการจ้างงานในอนาคต และสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของไทยต่อไป เพราะจะมีสิทธิประโยชน์รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะลงไปในพื้นที่ โดยตอนนี้มองไว้หลายพื้นที่ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล บริเวณเกาะสมุย และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือ เขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางวัฒนธรรม จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้น

ตั้งบอร์ดระดับชาติขับเคลื่อน

ส่วนกลไกการขับเคลื่อน แน่นอนว่าเมื่อมีจำนวนเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายแห่งทั่วประเทศขึ้นมาแล้ว ต้องมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมากำกับและขับเคลื่อน โดยมาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนช่วยกันทำงาน ขณะที่ตัวบทกฎหมายที่จะเอามาใช้นั้น ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ร่างกฎหมายเอาไว้ในเบื้องต้นแล้ว 

“วิธีการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ เราไม่ทำงานแบบคุณพ่อคุณแม่รู้ดี แต่เราจะทำเรื่องอะไรกับใครที่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับประโยชน์ต้องคุยกับเขาในฐานะของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องทำความเข้าใจก่อน โดยไม่ผลีพลามทำ เอาเร็วเข้าว่าแต่ขาดความรอบคอบ อย่างเรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษก็เตรียมเอาไว้แล้ว แต่ต้องขับเคลื่อนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน”

 

“เกียรติ สิทธีอมร” ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์

 

ส่งเสริมการค้าชายแดน

อีกส่วนที่ขาดไปไม่ได้เลย นั่นคือ การส่งเสริมการค้าชายแดน โดยต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการส่งเสริมจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน มาเป็นรูปแบบของเขตเศรษฐกิจพิเศษการค้าชายแดนได้ทั้งหมดทุกด่านรอบประเทศไทย แต่สิ่งที่ต้องทำให้ได้เพื่อให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษจริง ๆ คือ ระบบภาครัฐต้องรวมตัว ณ จุดเดียวในพื้นที่ 

รวมทั้งสินค้าผ่านแดนทั้งหมดต้องจัดทำเป็นคลังสินค้าชายแดนได้ทันที เพื่อสร้างระบบสต๊อกสินค้าในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสุดท้ายคือด้านแรงงาน ต้องมีสิทธิประโยชน์ในการจ้างงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวที่คล่องตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับการจัดทำสิทธิประโยชน์รองรับอย่างเหมาะสม

ประธานคณะกรรมการการต่างประเทศ ทิ้งท้ายว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเทียบกับทุกพรรค และที่ไม่เหมือนใครเลย นั่นคือ เราไม่มีนโยบายกู้เงินเพิ่ม แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน และเป้าหมายเศรษฐกิจก็โตเท่ากันที่ 5% เหมือนกันด้วยการเปลี่ยนเงินที่มีอยู่ในระบบมาได้แน่นอน 1 ล้านล้านบาท มาทำนโยบายให้กับประชาชน อีกอย่างเราจะไม่เหวี่ยงแหช่วยเฉพาะคนที่ควรช่วย ซึ่งหลักคิดของพรรคเราชัดเจน