เช็คนโยบายเด่น พรรคก้าวไกล ทำอะไรใน 100 วันแรก หลัง เลือกตั้ง 2566

12 พ.ค. 2566 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :12 พ.ค. 2566 | 08:08 น.

เช็คนโยบายเด่น พรรคก้าวไกล จาก 300 นโยบาย ครบทุกมิติ รัฐธรรมนูญ เศรษฐกิจ สวัสดิการ การศึกษา หากพรรคก้าวไกล เป็นรัฐบาล จะทำอะไรใน 100 วันแรก หลัง เลือกตั้ง 2566 ภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เลือกตั้ง 2566 เป็นวันที่ประชาชนคนไทยจะได้ใช้สิทธิออกเสียง เลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภาไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และฟอร์มรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ นอกจากเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบแล้ว นโยบายพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เห็นทิศทางในอนาคตของประเทศ หากพรรคนั้นๆได้เป็นรัฐบาล

ฐานเศรษฐกิจ เปิดนโยบายไฮไลท์ และนโยบายที่จะทำภายใน 100 วัน จาก 300 นโยบายพรรคก้าวไกล ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ทำความเข้าใจ และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้ง

นโยบายไฮไลท์ พรรคก้าวไกล

นโยบายไฮไลท์ พรรคก้าวไกล

1. รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

  • ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมอย่างน้อย 3 ด้าน
  • ปิดช่องรัฐประหาร เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ง่าย
  • เพิ่มสิทธิของประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร และ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร
  • ห้ามศาลทั้งปวงรับรองรัฐประหาร และกำหนดให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีหน้าที่ร่วมกันในการปกป้องประชาธิปไตย
  • ห้ามนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และ เปิดช่องให้ประชาชนดำเนินคดีกับผู้ก่อรัฐประหารในความผิดฐานกบฎได้
  • ปกป้องเสียงของประชาชน ผ่านการรื้อกลไกที่ถูกใช้ในการสืบทอดอำนาจ
  • ยกเลิกวุฒิสภาของ คสช. ทำให้รัฐสภาเป็นของประชาชน อำนาจ-ที่มามีความชอบธรรม
  • ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ทำให้เป็นกลาง มีระบบตรวจสอบที่ยึดโยงกับประชาชน
  • ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้นโยบายเท่าทันโลก และกำจัดข้ออ้างในการไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
  • ปลดล็อกท้องถิ่น เพื่อให้อำนาจในการกำหนดอนาคตของทุกพื้นที่ทุกจังหวัด อยู่ในมือของประชาชนผู้เกิด-ผู้อาศัย-ผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่ ไม่ใช่ส่วนกลาง
  • ร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ขีดเขียนโดยประชาชน กล่าวคือรัฐธรรมนูญต้องร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากเลือกตั้ง 100% และมีอำนาจพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา เพื่อโอบรับความฝันของทุกคนในประเทศอย่างแท้จริง

2. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร

  • ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด โดยไม่กระทบต่อภารกิจในการรักษาความมั่นคง ผ่านการ
  • ลดยอดพลทหารที่กองทัพเรียกขอที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจความมั่นคง (เช่น ยอดผี พลทหารรับใช้ งานที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง)
  • สร้างแรงจูงใจในการสมัครเป็นทหาร (เช่น การสร้าง สวัสดิภาพ-สวัสดิการ-ความก้าวหน้าทางอาชีพที่ดี การกำจัดความรุนแรงในค่าย)

3. เงินเด็กเล็ก เดือนละ 1,200 บาท

  • เพิ่มและขยายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี มาเป็นเงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท โดยให้ทุกคนแบบถ้วนหน้าไม่ตกหล่น

4. ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มทันทีวันละ 450 บาท

  • ปรับระบบค่าแรงขั้นต่ำให้มีการปรับขึ้นทุกปีตามค่าครองชีพและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้แรงงานได้ร่วมแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมจากการเติบโตของเศรษฐกิจ และเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนธุรกิจของตัวเองในแต่ละปีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
  • เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เริ่มต้นที่วันละ 450 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและดัชนีค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่สมัยที่ค่าแรง 300 บาทต่อวัน ถูกประกาศใช้เมื่อปี 2554
  • แบ่งเบาภาระค่าแรงที่สูงขึ้นสำหรับ SME ในช่วง 6 เดือนแรก โดยการที่รัฐช่วยสมทบค่าประกันสังคมในส่วนของผู้ว่าจ้าง สำหรับแรงงานที่ถูกกระทบโดยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

5. เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท

  • เพิ่มเงินผู้สูงวัยให้เป็นอัตราเดียวแบบถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท ภายใน 4 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีความมั่นคงทางการเงินเพิ่มขึ้น

6. น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่

  • ออกกฎหมายควบคุมมาตรฐานคุณภาพน้ำประปา
  • ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำประปาทั่วประเทศ
  • อุดหนุนงบประมาณปีละ 7,500 ล้านบาท เป็นแผนระยะยาว 8 ปี
  • วางเป้าหมายให้ประชาชนสามารถดื่มน้ำสะอาดจากก๊อกน้ำได้ ภายใน 10 ปี ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนในการซื้อน้ำดื่ม-น้ำใช้

7. เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด

  • จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกผู้ว่าฯแต่งตั้ง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง
  • หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะปูทางไปสู่
  • การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้ง + นายกฯ อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้ง) ไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีผู้บริหารจังหวัด 1 คน (ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง)
  • การแบ่งโครงการสร้างการบริหารประเทศเป็น 3 ระดับ ที่ล้วนนำโดยผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ตั้งแต่ระดับประเทศ นำโดยนายกรัฐมนตรี ระดับจังหวัด นำโดยนายกจังหวัดหรือผู้ว่าฯจังหวัด และระดับเล็กกว่าจังหวัด นำโดยนายกเทศมนตรี / นายก อบต. / นายกเขต

8. เปิดข้อมูลรัฐทันที ประชาชนเป็นเจ้าของ

  • ข้อมูลของรัฐ คือข้อมูลที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ รัฐมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูล
  • ข้อมูลของรัฐ ต้อง “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” (Open by Default) โดยหากจะปกปิด ต้องร้องขอด้วยเหตุผลที่สมควรเท่านั้น (เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่ต้องลับ)
  • ข้อมูลที่ถูกตีตราว่าเป็นข้อมูล “ความลับราชการ” จะต้องไม่ลับตลอดกาล โดยกำหนดระยะเวลาที่ข้อมูลจะต้องเป็นความลับ และถูกเปิดเผยทั้งหมดเมื่อระยะเวลาสิ้นสุดลง
  • ข้อมูลจะต้องถูกเปิดในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์ต่อได้ (machine readable) เพื่อความสะดวกของประชาชนในการตรวจสอบ (เช่น ถ้าเป็นข้อมูลตัวเลข ก็ควรเป็นรูปแบบ Excel)
  • การประชุมกรรมาธิการทุกคณะของรัฐสภา ต้องมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าไปดูย้อนหลังได้ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าผู้แทนของพวกเขา เข้าไปพูดหรือทำอะไร

9. ออกแบบหลักสูตรใหม่ เน้นทักษะที่ได้ใช้จริง

  • ร่างหลักสูตรใหม่ภายใน 1 ปี และค่อยๆ ปรับใช้จนสามารถใช้ในทุกระดับชั้นได้ภายใน 4 ปี
  • หลักสูตรจะเน้นการสอนทักษะ-สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพ (เช่น คิดวิเคราะห์ สื่อสาร ทำงานเป็นทีม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น) และการใช้ชีวิต (เช่น ความรู้ทางการเงิน ความรู้ด้านสุขภาพ)
  • ปรับการสอนทุกวิชาให้มุ่งเน้นทักษะสมรรถนะเป็นหลัก (เช่น การสอนภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะการสื่อสาร หรือการสอนประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
  • ปรับรูปแบบการเรียนการสอนแนะแนว ที่เน้นการเชื่อมกับโลกภายนอกและกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนที่ช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง
  • เพิ่มกิจกรรมทดลองเรียนรู้จากงานจริง หรือ job shadow การจัดคลินิกให้คำปรึกษา 1-ต่อ-1 การจัดสรรบัญชีวิทยากรจากภายนอกในอาชีพที่เด็กสนใจ

10. กองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท ยุติข้อพิพาท-ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร

  • เร่งแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดิน โดยมีเป้าหมายในการออกเอกสารสิทธิ์รวมกัน 10 ล้านไร่ ภายใน 4 ปี ให้เกษตรกรและประชาชนที่ผ่านการพิสูจน์สิทธิ ด้วยการ ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิ 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มบุคลากร อุปกรณ์ และ ระบบ RTK รังวัดที่ดินด้วยดาวเทียม ที่ต้องใช้ในกระบวนการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน โดยการใช้ข้อมูลหลักฐานต่างๆ ทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศ หลักฐานราชการ และหลักฐานของชุมชน/ประชาชน
  • ยกเครื่องกฎหมายที่ดินทั้งหมด 7 ฉบับ เช่น พรบ. ป่าไม้ พรบ. ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อแก้ไม่ให้มีการลิดรอนสิทธิในการครอบครองที่ดินของประชาชนที่พักอาศัยหรือทำมาหากินในที่ดินดังกล่าวมาก่อน

11. ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน

  • ลดค่าไฟให้กับประชาชนได้อย่างน้อย 70 สตางค์/หน่วย (เฉลี่ยบ้านละ 150 บาท) โดยปรับนโยบายเพื่อให้ความสำคัญกับประชาชนก่อนกลุ่มทุน (เช่น การเปลี่ยนนโยบายก๊าซธรรมชาติให้โรงแยกก๊าซร่วมหารต้นทุนก๊าซใน Energy Pool ด้วย และให้ก๊าซจากอ่าวไทยขายให้โรงไฟฟ้าก่อนโรงงานอุตสาหกรรม หรือขายก๊าซให้โรงงานอุตสาหกรรมในราคา LNG เพื่อให้ก๊าซจากอ่าวไทยราคาถูกกว่าป้อนโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น)
  • เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับสัมปทานทุนใหญ่พลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจากค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง

12. กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยน (cap & trade)

  • กำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมที่สำคัญ (เช่น ซีเมนต์ ปิโตรเคมี เหล็ก/โลหะ กระดาษ) โดยรัฐ และตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกในรายอุตสาหกรรม
  • เปิดตลาดสำหรับการค้าขายแลกเปลี่ยนโควต้าหรือเครดิตการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบเพดานปริมาณที่รัฐกำหนด
  • สนับสนุน green finance เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับอุตสาหกรรมที่ลงทุนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

13. ตรวจสุขภาพประจำปี ฟรีทั้งค่าตรวจ-ค่าเดินทาง

  • ตรวจสุขภาพประจำปีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต พร้อมกับให้ค่าเดินทางสำหรับเดินทางมาตรวจสุขภาพ

14. เพิ่มแต้มต่อให้ SME หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน

  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล
  • สำหรับคนซื้อ หรือ ประชาชนทั่วไป: เมื่อซื้อสินค้าจาก SMEs ครบ 500 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ (จำกัดไม่เกิน 2 ใบ/คน/เดือน และ จำนวน 10 ล้านคน/เดือน)
  • เพิ่มโอกาสลุ้นหวยให้ SMEs โดยการนำยอดขายมาแลกเป็นสลากกินแบ่งของรัฐบาลได้ด้วย
  • สำหรับคนขาย หรือ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ: เมื่อขายสินค้าครบ 5,000 บาท สามารถแลกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ 1 ใบ

15. รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด - เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ

  • อุดหนุนงบประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันในการเกิดการลงทุนเดินรถเมล์ไฟฟ้า ในทุกเมือง ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ และทำให้ค่าโดยสารรถเมล์อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นไปภาระกับประชาชนเกินควร

นโยบาย 100 วันแรก พรรคก้าวไกล

นโยบาย 100 วันแรก

  • ประชามติ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
  • ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในชายแดนใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายสถานการณ์รุนแรง
  • ประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ไม่มีใครตกงาน-เสียประโยชน์ โดยจัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และโอนถ่ายอำนาจการบริหารจังหวัดไปสู่ท้องถิ่น
  • ยกเลิกกฎระเบียบและคำสั่ง คสช. ที่ล็อกคอ-ล้วงลูกท้องถิ่น
  • ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง ตรวจสอบการใช้งบประชาสัมพันธ์ภาครัฐอย่างเข้มข้น และกำหนดว่าการใช้งบจะต้องเป็นการโฆษณาโครงการหรือผลงานของหน่วยงานเท่านั้น 
  • กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน
  • ครูละเมิดสิทธิ พักใบประกอบทันที
  • เลิกให้ครูนอนเวร เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • ยกเลิกพิธีรีตองในการประเมินครู-รับแขก เช่น การจัดแต่งอาคารสถานที่ต้อนรับผู้ประเมิน) เพื่อให้คุณครูสามารถโฟกัสไปที่การเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเต็มที่
  • เปลี่ยนนิคมสหกรณ์เป็นโฉนดทันที
  • หยุดบังคับติดตั้งระบบ AIS ยกเลิกนโยบายกำหนดให้เรือประมงพาณิชน์ติดตั้งระบบ AIS ที่ซ้ำซ้อนกับ VMS ที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้เหลือเพียงระบบเดียว
  • ค่าไฟแฟร์ ถูกและเป็นธรรมสำหรับประชาชน
  • หลังคาสร้างรายได้ เปิดเสรีโซลาร์เซลล์ ประกันราคาซื้อพลังงานสะอาดสำหรับครัวเรือน
  • ลดรายจ่าย SME: หักค่าใช้จ่ายเหมาภาษี เพิ่มจาก 60% เป็น 90%
  • เพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน
  • เพิ่มลูกค้าให้ SMEs โดยการเพิ่มแรงจูงใจให้ประชาชนที่เลือกซื้อสินค้า SME ได้รับแถมสลากกินแบ่งของรัฐบาลไปลุ้นรางวัล