นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ ว่าที่ สส.เขต 4 เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ปัจจุบันอายุ 35 ปี ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาเจอกับรัฐประหารทั้งหมด 3 ครั้ง ที่พอจะรู้ความและจำได้คือ การรัฐประหารปี 2549 ยึดอำนาจรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ และครั้งล่าสุดของคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะยังเป็นนักศีกษาปีที่ 1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การรัฐประหารทำให้เริ่มสนใจปัญหาบ้านเมือง เริ่มตั้งคำถามกับสังคมและกฎหมาย ว่ากฎหมายมีมาเพื่อใครกัน แล้วสุดท้ายกฎหมายทั้งหมดถูกล้มโดยผู้มีอำนาจ รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศถูกล้มโดยทหารได้อย่างไร
-จากนักกิจกรรมสังคมสู่เส้นทางการเมือง
ต้องยอมรับว่าสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจประเทศกำลังก้าวหน้าสังคมเติบโต แต่แล้วอยู่ดี ๆ มีรัฐประหารเกิดขึ้น ประกอบกับเราเป็นคนเชียงใหม่ ที่ส่วนใหญ่รักนายกฯทักษิณ ก็ทำให้เกิดคำถามมากขึ้น จนสุดท้ายเมื่อเรียนจบกฎหมาย ไปต่อปริญญาโทภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อ มีการต่อสู้ของคนเสื้อแดง ก็เลยทำวิจัยเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง
จากการลงพื้นที่และติดตามเข้ากรุงเทพฯ ได้เรียนรู้หลายอย่าง ได้พบคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุมเมื่อปี 2535 ได้พบนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เลยรวมตัวกันเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง จากนักวิจัยได้โดดไปเป็นนักเคลื่อนไหวโดยปริยาย
ไม่เฉพาะเรื่องการเมือง "พุธิตา" เล่าต่อว่า แต่ยังมีประเด็นทางสังคมด้วย เช่น กรณีเหมืองแร่เมืองเลย เป็น NGO's เข้าทำงานช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหา เรื่องของสิ่งแวดล้อมของสารเคมีจากการทำเหมืองทองคำ และเป็นนักกฎหมายช่วยดูแลชาวบ้านเวลาไปขึ้นศาล มีคดีความกับกลุ่มนายทุนเหมืองทองตอนนั้นด้วย
"จากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทำให้เราเริ่มก้าวเข้าไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเต็มตัว หลังการรัฐประหารของนายกฯประยุทธ์ มีภาพที่ส่งต่อกันมากทางโซเชียล คือ ภาพที่ถูกจับหน้าหอศิลป์ ม.เชียงใหม่"
ท่ามกลางการเคลื่อนไหว เพื่อนหลายคนถูกจับดำเนินคดี หลายคนหลบหนีไปเป็นผู้ลี้ภัยต่างประเทศ บางคนเสียชีวิต เราเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าอยู่ตรงนั้นไม่ได้ด้วยความเจ็บปวด ท่ามกลางความห่วงใยของคนในครอบครัวก็คิดจะถอย จนตัดสินใจไปเรียนต่อภาษาจีน ที่เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง ประมาณ 2 ปี
พอดีได้ยินข่าวธนาธร(จึงรุ่งเรืองกิจ)ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ตอนนั้นอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ รู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง อยากกลับมาช่วยผลักดันเป็นส่วนเล็ก ๆ ในพรรค จึงตัดสินใจกลับมาที่เมืองไทย และได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วย ส.ส. ในพรรคอนาคตใหม่(สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ) ก็อยู่เรื่อยมาจนถึงพรรคก้าวไกล จริง ๆ ไม่เคยคิดเลยว่าอยากจะมาเป็นนักการเมือง
-ชีวิตพลิกผันปลุกอุดมการณ์
การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคต้องการส่งคนสมัครส.ส.เขต ที่พรรคต้องเชื่อใจในอุดมการณ์ได้ โดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ซึ่งเคยมีประวัติเรื่องงูเห่ามาแล้ว รอบนี้จึงต้องคัดคนที่มีอุดมการณ์เดียวกับพรรค และประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่หักหลัง จึงอาสามาเป็นตัวเลือกหนึ่งของพรรค
เป็นช่วงจังหวะของชีวิตที่พอดีแต่งงานมีครอบครัว มีลูก และได้กลับมาอยู่เชียงใหม่บ้านเกิด ในช่วงที่เคยผ่านสถานการณ์โควิดรุนแรง มีคนเสียชีวิต รวมถึงคนท้องและเด็กแรกเกิด ผ่านประสบการณ์ความเป็นห่วงลูกในท้อง และตัดสินใจว่าปล่อยไว้ให้เป็นแบบนี้ไปไม่ได้แล้ว จึงคุยกันในครอบครัว ขอเป็นส่วนหนึ่งเป็นตัวเลือกให้พรรค เพราะเรามั่นใจในตัวเอง ที่จะช่วยผลักดันเป้าหมายของพรรคได้ คือ การสร้างสังคมที่ดีกว่า ที่เท่าเทียม สร้างอนาคตให้ลูกหลานเรา จนผ่านการคัดเลือกเป็นผู้สมัครในเชียงใหม่ เขต 4
"พุธิตา"เล่าอีกว่า เกิดมาในครอบครัวคนชั้นกลาง โดยปู่ทำธุรกิจจัดส่งออกซิเจนทางการแพทย์ให้โรงพยาบาล ส่วนแม่ทำธุรกิจเซรามิค ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ธุรกิจของครอบครัวก็มีปัญหาทั้ง 2 ตัว เกือบล้มละลาย ครอบครัวต้องขายบ้านย้ายไปอยู่โรงงาน ทำให้ชีวิตพลิกผันจากที่มีหน้าที่เรียนอย่างเดียว ตอนนั้นอยู่ปี 2 ก็ต้องหางานทำช่วยลดรายจ่ายในบ้านไปด้วย โดยการไปขายของที่กาดหลวงตอนกลางคืน งานบันเทิงเปิดสมัครแคสงานที่ไหนก็ไป ย้ายบ้านจากตัวเมืองไปอยู่หลายอำเภอ จนสุดท้ายอยู่ที่สันทราย ที่ทำให้มีโอกาสเป็นผู้สมัครส.ส.เขต 4
-ทำไมถึงได้แชมป์คะแนนเสียงเลือกตั้ง"เชียงใหม่"
เดิมทุกพื้นที่ของเชียงใหม่เป็นของเพื่อไทย แต่คราวนี้ก้าวไกลได้ส.ส.เชียงใหม่มา 7 จาก 10 เขต เพราะประชาชนได้เรียนรู้ช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ว่าการเมืองกับปากท้องแยกกันไม่ได้ ปัจจัยแรกที่ทำให้ก้าวไกลชนะคือ ทั้งกระแสพรรค และคะแนนผู้สมัครในเขต ซึ่งคนรับรู้กันว่าเราเป็นนักเคลื่อนไหว มั่นใจในอุดมการณ์ของเรา และสัมผัสได้จากที่ลงพื้นที่มาปีกว่า ไม่ได้ทำงานเพื่อหาเสียง แต่ช่วยแก้ไขปัญหาให้คนในพื้นที่ ผลักดันปัญหาหลายอย่างเข้าสู่กระบวนการในสภา คนสัมผัสได้ว่าเราเป็นตัวแทนของประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่นักการเมือง ไม่ได้เป็นคนที่เข้ามาหวังผลประโยชน์ทางการเมืองส่วนตัว
ปัจจัยถัดมา เรามีทีมงานที่ขยัน ตั้งใจทำงาน ที่ผ่านมาเราให้เกียรติประชาชนในพื้นที่ เวลาลงหาเสียงเราให้เวลากับทุกคนในทั้ง 15 ตำบลของเขตเลือกตั้ง ไปให้ครบทุกหมู่บ้าน ให้เวลากับทุกคนเหมือนเครือญาติ ไม่ได้มายกมือไหว้ขอคะแนน แต่อยากมารับฟังปัญหา ซึ่งคนสัมผัสได้กับการทำงานของเราตรงนี้
สุดท้ายแล้วเราตอบแทนทุกคนไม่ได้ ว่าทำไมถึงเลือกเรา ก็คงจะต้องไปถามประชาชนดู แต่เราสัมผัสได้ ยิ่งช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 2-3 อาทิตย์สุดท้าย ทุกคนเห็นเราเป็นความหวังในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขา ตรงนี้เราเข้าใจว่าเขาคงมองเห็น ทำให้สุดท้ายเขาไม่สนใจหรอกว่าสุดท้ายผู้สมัครจะเป็นใคร แต่ก้าวไกลเท่ากับเขา เขาคือก้าวไกล
และที่ก้าวไกลชนะได้ขนาดนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกระแสของคนรุ่นใหม่ และเป็นส่วนสำคัญด้วย จากที่เคยทำวิจัยเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ต้องยอมรับว่าพอวิวัฒนาการเรื่องของการสื่อสารไปไกล เช่น อย่างยุคก่อนเครื่องมือในการสื่อสารทางการเมืองของฝั่งประชาธิปไตยคือเฟชบุ๊ค ทวิตเตอร์ แต่ตอนนี้มีอีกแพลตฟอร์มคือ ติ๊กต็อก ที่สามารถเปิดการมองเห็นได้ ประชาชนสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่ การโต้ข่าวลวง ข่าวปลอม คนสามารถรับข่าวได้อย่างมีวิจารณาญาณเต็มที่ คนรุ่นใหม่ใช้แพลตฟอร์มตรงนี้ในการผลักดันวาระทางการเมืองของตัวเอง ถ้าไม่มีติ๊กต็อก ไม่มีเฟชบุ๊ค ทวิตเตอร์ สถานการณ์ก็จะเป็นอีกแบบ
-ภารกิจเร่งด่วนในฐานะตัวแทนคนเชียงใหม่
1.เรื่องของฝุ่น PM2.5 ปีหน้าต้องไม่มีแล้ว เพราะจากการลงพื้นที่เราเห็นชาวบ้านได้รับผลกระทบ ชาวบ้านไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ตัวเราเองก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากเรื่องของฝุ่น PM 2.5 ดังนั้นตรงนี้เป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ฝ่ายรัฐบาล ตอนนี้เรามีอำนาจแล้ว เราต้องเป็นคนที่จัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ให้กับประชาชน
2. เรื่องทุนจีนสีเทา เรื่องทุนต่าง ๆ ที่เข้ามา ส.ส.เชียงใหม่ของก้าวไกลต้องมานั่งพูดคุยกัน ว่าเราจะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เบื้องต้นได้คุยกับหัวหน้าพรรคแล้วและเห็นด้วย ว่านี่เป็นวาระหนึ่งที่เราต้องหาโอกาสผลักดัน นอกจาก 300 นโยบายในวาระ 100 วันแรก และ 1 ปีแรกของพรรคก้าวไกล
ปัญหาในพื้นที่เราจะเข้าไปเสนอและแก้ไขได้อย่างไรในรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เราต้องรีบพูดคุยกันหลังจากที่หลาย ๆ อย่างชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล
-เบื้องหลังความสำเร็จคืออะไร
"พุธิตา"รีบตอบว่า การได้เป็นส.ส.ครั้งนี้ไม่ใช่ความสำเร็จ เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะมาเป็นส.ส. ไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แต่สถานการณ์พาไป เบื้องหลังคนที่ทำให้เรามายืนอยู่ตรงนี้ได้ คือ เผด็จการชนชั้นนำ
ส่วนคำถามว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร โดยส่วนตัวคือการได้อยู่อย่างเงียบสงบกับครอบครัว ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติกับศิลปะ ให้เวลากับลูก ให้เวลากับครอบครัว ดูแลครอบครัว อันนี้เป็นสิ่งที่เราโหยหา อันนี้คือเป้าหมายในชีวิต
แต่หนทางที่จะไปสู่เป้าหมายตรงนี้ได้คือ เราต้องสร้างสังคมสร้างการเมืองที่ดี เพื่อที่ว่าเราจะได้มีเวลาที่ดีให้กับลูกได้มีโอกาส ได้มีบ้านเมืองที่ดีให้กับลูกของเราในอนาคตของเขาต่อไป แม้ตอนนี้่เราต้องเสียสละเวลาส่วนตัว เวลาที่จะให้กับลูก แต่คิดดูแล้วอาจจะคุ้มกว่าด้วยซ้ำ คือการเสียสละของเราและคนไม่กี่คนในพรรค แต่ทำให้หลายครอบครัวในบ้านเมืองได้ประโยชน์ จากการมาสร้างอนาคตให้กับประเทศชาติ ให้กับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยของเรา
-เส้นทางก่อนเป็นส.ส.
"พุธิตา ชัยอนันต์" จบการศึกษาระดับประถม-มัธยมศึกษา จากโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ไปต่อคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาโทศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (พัฒนาสังคม) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน ช่วงปี 2556-2558 เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิในการเลือกตั้ง ควบคู่กับเป็นอาสาสมัครนักสิทธิมนุษยชน มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
ปี 2562 ผู้ช่วย ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ (นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ)
นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ ว่าที่ ส.ส.เขต 4 เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล แม่ริม สันทราย (เหมืองแก้ว ป่าไผ่ สันพระเนตร หนองหาร หนองแหย่งเมืองเล็น แม่แฝกใหม่ สันทรายน้อย สันนาเม็ง สันป่าเปา หนองจ๊อมสันทรายหลวง แม่แฝก ดอนแก้ว แม่สา)
นภาพร/รายงาน