"ข้อบังคับประชุมสภา ข้อ 41" ดับฝันเส้นทางนายกฯ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"

19 ก.ค. 2566 | 06:05 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ค. 2566 | 11:05 น.

ทำความรู้จัก ข้อบังคับประชุมสภา ข้อที่ 41 คืออะไร หลังสมาชิกรัฐสภายกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา อ้างการเสนอชื่อ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ให้โหวตเลือกนายกฯรอบ 2 ไม่ได้ เป็นการเสนอญัตติซ้ำหลังจากที่ไม่ผ่านความเห็นชอบในการประชุมรอบแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา 

ข้อบังคับในการประชุมสภา คู่มือสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาใช้เป็นหลักยึดเพื่อปฏิบัติตามไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเกิดความเข้าใจตรงกัน ล่าสุดข้อบังคับประชุมสภา ข้อที่ 41 ซึ่งหากประชาชนที่รับฟังการประชุมสภาในวันนี้ได้ยินกันตลอดช่วงหลายชั่วโมงที่ผ่านมานี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างของเหล่าสมาชิกรัฐสภาในวันนี้

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความรู้จักกับ ข้อบังคับประชุมสภา ข้อที่ 41 กันว่า คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ทำไมถึงถูกพูดถึงกันอย่างมากในการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รอบสองนี้

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อมีสมาชิกรัฐสภาเสนอรายชื่อ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นรอบที่ 2 ซึ่งได้เคยถูกเสนอรายชื่อมาแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566

โดยมีผลคะแนนโหวต "เห็นชอบ" 324 เสียง "ไม่เห็นชอบ" จำนวน 182 เสียง "งดออกเสียง" จำนวน 199  เสียง จากองค์ประชุมจำนวน 705 คน  

จึงทำให้สมาชิกรัฐสภามีความเห็นแย้งกันว่า จะเป็นการเสนอญัตติซ้ำซ้อนอีกหรือไม่  

สำหรับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อ 41 อยู่ในส่วนที่ 2 การเสนอญัตติ ระบุไว้ว่า 

ข้อ 41 "ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุม
เดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป"

ขณะที่ สถาบันพระปกเกล้า โดย อรพรรณ สินธ์ศิริมานะ อธิบายความหมายโดยอ้างอิง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของคำว่า "ญัตติ" ไว้ดังนี้ 

 "ญัตติ น. ข้อเสนอเพื่อลงมติ เช่น ผู้แทนราษฎรเสนอญัตติเข้าสู่สภาเพื่อขอให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่" 

ญัตติ หมายถึง เรื่อง ปัญหา หรือประเด็น ที่สมาชิกรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา เพื่อให้มีการลงมติในเรื่องปัญหา หรือประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีความหมายว่า ข้อเสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายจะให้รัฐสภาลงมติหรือวินิจฉัยชี้ขาดว่าจะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

ด้าน พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร ให้ความหมายของคำว่า ญัตติไว้ว่า "ญัตติ" คือ ข้อเสนอต่อที่ประชุม เช่น ประชุมรัฐสภา เรียกว่า เสนอญัตติ