บทวิเคราะห์สื่อโลก “พิธา” แพ้ยก2 การเมืองไทยเหมือนละคร

20 ก.ค. 2566 | 02:45 น.
อัพเดตล่าสุด :20 ก.ค. 2566 | 02:46 น.

สื่อหลายสำนักทั่วโลกจับตาการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรอบ2 อย่างใกล้ชิดวานนี้ (19 ก.ค.) จนได้บทสรุปว่า รัฐสภาของไทยสามารถสกัดนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกฯ ไม่ให้ไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จตามคาด

 

สำนักข่าวต่างประเทศ หลายสำนักซึ่งรวมทั้งรอยเตอร์ เอพี บีบีซี ด็อยเชอเว็ลเลอ (DW) และเดอะ วอชิงตันโพสต์ ต่างสรุปรายงานพร้อมการวิเคราะห์ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย กันอย่างละเอียด หลังที่ประชุมสภามีมติเสียงส่วนใหญ่ปัดตกการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ เป็นครั้งที่สองเมื่อวันพุธ (19 ก.ค.)

สำนักข่าวรอยเตอร์ พาดหัวข่าวเปิดประเด็นว่า Turmoil in Thailand as rivals derail election winner's PM bid (ความวุ่นวายเกิดขึ้นในไทย เมื่อฝ่ายตรงข้ามตีตกความพยายามเสนอชื่อนายกฯของพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง)  พร้อมระบุ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับเส้นทางอันยากลำบากแสนสาหัสเพื่อที่จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐบาล ทั้งยังต้องหาทางก้าวข้ามแรงต้านอันดุเดือดจากกองทัพที่มีจุดยืนสวนทางกับพรรคก้าวไกล

รอยเตอร์ระบุว่า รัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบันที่มีเนื้อหาเข้าทางของฝ่ายกองทัพคือสิ่งที่ทำให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่รัฐบาลทหารเป็นผู้แต่งตั้งและทำหน้าที่เสมือนป้อมปราการต้านนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง สามารถจัดการกับความพยายามของฝ่ายตรงข้ามที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังที่สามารถสกัดกั้นการเสนอชื่อนายพิธาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้สำเร็จ

เส้นทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาถึงทางตันแล้ว

“สถานการณ์ภายในรัฐสภาไทยที่เหมือนกับละครเรื่องหนึ่งนั้น เป็นเพียงการหักมุมอีกครั้งในการต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มีมาตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งกรณีการสั่งยุบพรรคการเมือง การแทรกแซงโดยศาล การก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง และการเดินประท้วงตามท้องถนนที่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง” รอยเตอร์ระบุ

และภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติปัดตกการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯในรอบที่สอง รอยเตอร์ได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่มีจำนวนหลายร้อยคนและปักหลักชุมนุมต่อต้านความพยายามสกัดกั้นหัวหน้าพรรคแนวก้าวหน้านี้ไม่ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ พบว่า หลายคนแสดงความผิดหวังต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นสุภาพสตรีวัย 21 ปีคนหนึ่ง ที่บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เธอรู้สึกโกรธที่สมาชิกสภาไม่เคารพประชาชน และไม่ยอมฟังเสียงของประชาชนจำนวน 14 ล้านคนที่เลือกพรรคก้าวไกลเลย

รอยเตอร์ยังรายงานว่า นายพิธาทวีตข้อความออกมาระหว่างที่ประชุมสภาอภิปรายญัตติว่าด้วยการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ รอบที่สอง ซึ่งหนึ่งในข้อความนั้นมีใจความว่า “เรายังต้องอยู่กันแบบนี้ในวันนี้ ก็เพราะภายในรัฐธรรมนูญนี้ เสียงของประชาชนมันไม่เพียงพอ ผมต้องมาขอความเห็นชอบจากท่าน เพื่อจะได้เข้าไปบริหารประเทศตามเจตนารมณ์ของประชาชน”

ขณะที่ สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ความพ่ายแพ้ของนายพิธานั้นเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทยประเมินไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าเป็นความพ่ายแพ้ที่ถูกลิขิตไว้โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่างโดยรัฐบาลทหารและถูกออกแบบมา ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น การเปิดทางให้สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาทในการรับรองนายกรัฐมนตรี เป็นต้น

เจคอบ ริคส์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Singapore Management University กล่าวกับเอพีว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มอนุรักษ์นิยม และสิ่งที่เราเพิ่งได้เห็นกันไปก็คือ การดำเนินการตามอำนาจรัฐธรรมนูญ “ชะตาของพิธา หรือกระทั่งของกลุ่มเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้า ล้วนถูกปิดผนึกไว้เนิ่นนานแล้วก่อนจะเกิดการเลือกตั้งเสียอีก”

นาทีอำลา

เอพีระบุด้วยว่า เป้าหมายอันเฉพาะเจาะจงของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังพุ่งไปที่บรรดาจักรกลทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ถูกยึดอำนาจโดยการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 ขณะที่กฎต่าง ๆ นั้นก็ยังสามารถนำไปใช้จัดการกับสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้ด้วย

นอกจากเรื่องของมติที่ประชุมสภาแล้ว เอพียังได้อ้างถึงความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) จากกรณีคดีที่เกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวีด้วย

เพตรา อัลเดอร์แมน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) ของอังกฤษและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการเมืองแบบเผด็จการภายใต้กองทัพ กล่าวว่า ประเด็นหลักก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยนั้นไม่สามารถชนะให้ได้มาซึ่งอำนาจจากการมีชัยในการเลือกตั้ง และว่า การก่อรัฐประหารและยึดอำนาจปกครองเมื่อปี 2557 ได้สร้างระบบการเมืองที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและถูกออกแบบมาเพื่อป้องกัน(สกัดกั้น)  "ฝ่ายที่ผิด" ในสายตาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไม่ให้มีโอกาสขึ้นมามีอำนาจ

อัลเดอร์แมนยังกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ได้รับอำนาจในการทำหน้าที่ตรวจสอบเพื่อช่วยฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการตัดสิทธิ์ หรือสั่งห้ามนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงต่าง ๆ และสั่งยุบพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมทั้งหลายได้ด้วย

ด้าน สำนักข่าวบีบีซี สื่อใหญ่ของอังกฤษ นอกเหนือจากการสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาและศาลรัฐธรรมนูญแล้ว บีบีซียังได้พูดคุยกับกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลที่รวมตัวกันอยู่ภายนอกรัฐสภา ซึ่งตั้งคำถามว่า จะมีการเลือกตั้งทำไมเมื่อพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐสภา ทั้งนี้ บีบีซียกตัวอย่างความเห็นและคำถามของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีตั้งแต่ “จะให้ประชาชนไปคูหาเลือกตั้งทำไม ทำไมไม่เลือกคนในครอบครัวของคุณขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีไปเลยหละ” ไปจนถึง “พิธาไม่ได้ทำผิดเลย เขาทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว”

สื่อใหญ่รายนี้ยังรายงานคำพูดของนายพิธาที่กล่าวต่อสมาชิกสภาหลังได้รับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญให้เขาระงับการทำหน้าที่ ส.ส.ว่า “ประเทศไทยเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแล้วครับ ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ... และถ้าเกิดประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะยังไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนกันต่อไป ขอบคุณมากครับ”

กลุ่มผู้สนับสนุนนายพิธาทวงถาม ทำเช่นนี้แล้วจะมีการเลือกตั้งมาเพื่ออะไร

บีบีซี ระบุว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำฟ้องสองคดีของนายพิธาทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือ การมีคำพิพากษายุบพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกตัดสินว่า มีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งไทย และการพิพากษาให้อดีตนายกรัฐมนตรี คือนายทักษิณ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลุดจากตำแหน่ง รวมทั้งการสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกฯ ทักษิณ เช่น พรรคพลังประชาชน ที่มีผลให้อดีตนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในสมัยนั้นต้องยุติการทำงานไปด้วย

ถึงกระนั้น บีบีซี ชี้ว่า ทิศทางการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญในปีนี้กลับดูเป็นคุณกับพรรคเพื่อไทยที่จะมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลใหม่และมีแคนดิเดตจากพรรคก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ด้วย

อีกสื่อฝั่งยุโรป คือ ด็อยท์เชอเว็ลเลอ (Deutsche Welle - DW) สื่อสัญชาติเยอรมันก็เป็นอีกแห่งที่รายงานสถานการณ์การเมืองล่าสุดของไทย โดยพาดหัวข่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า Thai parliament rejects Pita's PM nomination (รัฐสภาไทยปัดตกการเสนอชื่อขึ้นเป็นนายกฯ ของพิธา) และมีการจับประเด็นสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดวันซึ่งรวมถึงการประชุมสภาก่อนจะมีการลงมติและการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำฟ้องหัวหน้าพรรคก้าวไกลในประเด็นการถือหุ้นบริษัทไอทีวีและการมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ด้วย

ฟิลิป เชอร์เวลล์ ผู้สื่อข่าวภูมิภาคเอเชียจากหนังสือพิมพ์ Sunday Times ของอังกฤษ ประจำประเทศไทย กล่าวกับสื่อ DW ว่า คำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ผ่านมานั้นเป็น “ความปราชัยครั้งใหญ่” สำหรับแผนงานทางการเมืองของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และเชื่อว่า วุฒิสภาไทยไม่น่าจะกลับมาหนุนการเสนอชื่อของนายพิธาอีก หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาดังกล่าวออกมา

ขณะที่ เดอะ วอชิงตันโพสต์ เลือกจับประเด็นมาตรา 112 ว่า เป็นต้นตอของวิกฤตการเมืองไทย และเป็นหนึ่งในแผนงานของพรรคก้าวไกลภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะทำการแก้ไข แต่เป็นสิ่งที่ฝ่ายกองทัพที่เป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมไม่ต้องการให้มีการแตะต้อง

เดอะ วอชิงตันโพสต์ ระบุว่า ประเด็นดังกล่าว คือเหตุผลให้สมาชิกสภาหัวอนุรักษ์นิยมสกัดกั้นการเสนอชื่อนายพิธาขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่การลงมติรอบแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม และยังเป็นเหตุผลที่อาจทำให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองและอาจทำให้พรรคหัวก้าวหน้านี้ถูกตัดสินยุบพรรคได้ด้วย

สื่อสหรัฐรายนี้ อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกฎหมาย iLaw ที่รวบรวมมาและแสดงให้เห็นว่า หลังการก่อรัฐประหารในปี 2549 ที่กองทัพยึดอำนาจการบริหารประเทศจากอดีตนายกฯ ทักษิณ มีผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้อำนาจของมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 36 คน ขณะที่ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 98 คนหลังการก่อรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 ที่เป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ การวิเคราะห์ของสื่อแห่งนี้ชี้ว่า รัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งทำการปราบปรามผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันหนักขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา

และแม้การปราบปรามจะดูชะลอลงหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 2562 สถานการณ์กลับรุนแรงขึ้นอีกครั้งในปีถัดมา เมื่อมีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันของไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

เดอะ วอชิงตัน โพสต์ อ้างข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 อย่างน้อย 253 คน ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมปี 2563 และเดือนกรกฎาคมปีนี้ (2566) โดย 20 คนนั้นเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

ข้อมูลอ้างอิง