หนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.5 แสนต่อครัว แล้งจ่อลามทั่วไทย ระเบิดเวลา รอรัฐบาลใหม่

06 ส.ค. 2566 | 02:33 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 02:49 น.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) ล่าสุด จำนวน 258 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ

ในคำถามภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจล่าช้าในเรื่องใด อันดับที่ 1 ตอบว่าการชุมนุมประท้วงของประชาชน และความเสี่ยงที่จะเกิด 69.8%การใช้ความรุนแรง อันดับที่ 2 ภาคเอกชนชะลอการลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ 66.7% อันดับที่ 3 ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน 65.1% และอันดับที่ 4 ความเสี่ยงในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ  56.6%

ส่วนคำถามภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเรื่องใด อันดับที่ 1 ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมือง 81.0%หลังการเลือกตั้ง อันดับที่ 2 ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ76.4% และค่าขนส่ง

หนี้ครัวเรือนพุ่ง 5.5 แสนต่อครัว แล้งจ่อลามทั่วไทย ระเบิดเวลา รอรัฐบาลใหม่

อันดับที่ 3 กำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 64.3% และอันดับที่ 4 อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น(ล่าสุดปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.25% ต่อปี) ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และปัญหา NPL ที่เพิ่มขึ้น 54.7%

และในคำถามภาคอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ไว้อย่างไร อันดับที่ 1 ตอบว่าทรงตัว 52.0% อันดับที่ 2 แย่ลง 43.0% อันดับที่ 3 ดีขึ้น 5.0%

ขณะที่ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ประจำเดือนสิงหาคม 2566 ยังคงคาดการขยายตัวของจีดีพีไทยปี 2566 ไว้ที่ 3.0-3.5% ส่งออก -2% ถึง 0.0% และเงินเฟ้อ 20.2-2.7% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่คาดการณ์ไว้ในเดือนกรกฎาคม โดยที่ประชุมยังมีความกังวลในหลายเรื่อง ที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้มีความท้าทายสูง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมปีนี้มีโอกาสฟื้นตัวเป็นไปตามคาดหมายที่ 29-30 ล้านคน แต่การใช้จ่ายต่อหัวยังตํ่า เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมาเต็มที่ ทำให้การฟื้นตัวของบางจังหวัดท่องเที่ยวยังช้า

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐล่าช้า การชะลอตัวของภาคการส่งออก (ติดลบ 9 เดือนต่อเนื่อง) ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้นกว่าที่คาด ซึ่งจะกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยในภาพรวม รวมถึงกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต้องเตรียมแผนรับมืออย่างเร่งด่วน

นอกจากนี้จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล่าสุด ระบุว่า ครัวเรือนไทยมีภาระหนี้สินโดยเฉลี่ยครอบครัวละ 5.59 แสนบาท สูงสุดในรอบ 15 ปี และมีจำนวนถึง 54% ที่มีหนี้สินสูงกว่ารายได้ โดยพบว่าเป็นหนี้นอกระบบสูงถึง 19.8% ของหนี้ทั้งหมด เหล่านี้เป็นเพียงหนังตัวอย่างจากปัญหาของประเทศที่มีอีกมากมายที่รอรัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขโดยเร็ว

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สะท้อนจากเสียงผู้นำภาคเอกชนที่ออกมาตอกยํ้าแสดงถึงความกังวล โดย นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรจะแล้วเสร็จในระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ เพราะหากมียืดเยื้อ หรือล่าช้าออกไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด จะกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังค้างท่อ และการจัดงบประมาณประเทศล่าช้า การจัดทำแผนรับมืออย่างเร่งด่วนและจริงจังในการป้องกันและแก้ไขภัยแล้งจากเอลนีโญที่ส่งสัญญาณชัดเจน รวมถึงการแก้ไขปัญหาค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูง กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังคงคาดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)ของไทยในปี 2566 ไว้ที่ 3.0-3.5% บนสมมุติฐาน นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในไทย 29-30 ล้านคน นำเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองเกิดความวุ่นวายและรุนแรง(หลังพรรคเพื่อไทยปิดฉากการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล) นักท่องเที่ยวที่วางแผนมาเที่ยวไทยช่วงไฮซีซั่นปลายปีไม่มาตามเป้าหมาย จีดีพีไทยอาจจะลดลง 1% โดยอาจโตได้แค่ 2-2.5% ทั้งนี้ต้องรอดูทิศทางการเมืองไทยนับจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป