“ชัยชนะ"โต้วุ่นยันไม่มีกลุ่มส.ส.ไปร่วมรัฐบาล ชี้ทุกอย่างต้องเป็นมติ ปชป.

06 ส.ค. 2566 | 06:39 น.
อัพเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 06:49 น.

“ชัยชนะ เดชเดโช"ยันไม่มีกลุ่ม ส.ส.ไปร่วมรัฐบาล ทุกอย่างต้องเป็นมติพรรค ปชป. ยังไม่ได้เทียบเชิญจากเพื่อไทย

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กล่าวถึงกรณี นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มีความเห็นการร่วมรัฐบาลจะต้องเป็นมติพรรคว่า ยังไม่เคยมีใครบอกเลยว่าจะร่วมรัฐบาล 

“การจะตัดสินใจร่วมรัฐบาลต้องเป็นไปตามข้อบังคับ ต้องมีการประชุมร่วมกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมการบริหารพรรค เพื่อมีมติ ส่วนที่เป็นข่าวออกมาตอนนี้ก็เป็นข่าว ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น”

นายชัยชนะ กล่าวด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง มีข้อบังคับ มีขั้นตอนกระบวนการอยู่แล้ว ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งมาตัดสินใจได้ หรือใครคนใดคนหนึ่งมาชี้นำ เพราะที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจอะไรก็เป็นมติพรรคอยู่แล้ว

เมื่อถามว่าอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ จะร่วมกับพรรคเพื่อไทย ได้จริงหรือไม่ นายชัยชนะ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเสนอ ขัดต่ออุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ถ้าไม่ขัดต่อจุดยืนพรรค ที่ยึดมั่นในเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์ เราต่อต้านพรรคการเมืองที่แก้ไขมาตรา 112 ไม่มีพรรคก้าวไกล รวมถึงไม่สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย และหาทางออกให้กับประเทศให้ได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเป็นทั้งสองฝ่ายทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมาอยู่คนละขั้วกับพรรคเพื่อไทย นายชัยชนะ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเลยว่า จะร่วมรัฐบาลหรือไม่ร่วมรัฐบาล เรื่องนี้จึงยังตอบไม่ได้ แต่หลักการและอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ 10 ข้อ ในการร่วมรัฐบาล จะขัดต่อหลักการเราหรือไม่

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะจำกัดกับคำว่า "ไม่เอาคุณทักษิณ" อย่างไร นายชัยชนะ กล่าวว่า ยังมาไม่ถึง และถ้ามาไม่ถึงแล้วพูดไปก็คงไม่ได้ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้มีการเชิญพรรคประชาธิปัตย์ จะบอกว่าเราไม่เอาคนโน้นคนนี้มันไม่ใช่ เพราะหลักการประชาธิปัตย์เรารู้อยู่แล้วว่าคืออะไร

เมื่อถามว่ามีความพยายามก่อกลุ่มขึ้นมาของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อที่จะไปร่วมรัฐบาล  นายชัยชนะ กล่าวยืนยันว่า ไม่มี ตนก็เป็น ส.ส.ที่ยังยืนอยู่ตรงนี้ ข่าวก็คือข่าว และในข้อเท็จจริง ก็ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันในที่ประชุมพรรค 

"แม้ในที่ประชุมส.สเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ก็ไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุย เพราะวาระ ในการโหวตนายกรัฐมนตรีต้องรอศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อนในวันที่ 16 สิงหาคม หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จึงจะได้มาประชุมร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร"