"เพื่อไทย" เตรียมเชิญ "รวมไทยสร้างชาติ" ถกร่วมจัดตั้งรัฐบาล

14 ส.ค. 2566 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ส.ค. 2566 | 12:56 น.

"ภูมิธรรม" รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เผย เตรียมประสานแกนนำ "รวมไทยสร้างชาติ" รอถกร่วมจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ มั่นใจได้เสียงสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้ว

14 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดในการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า กำลังประสานงานไปยังพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ขณะนี้ทราบแล้วว่า รทสช. มีแนวโน้มเป็นบวก

มีคุยกันบ้างแล้วตั้งแต่เชิญมารับฟังแนวทางร่วมรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่พรรคเพื่อไทยซึ่งความสัมพันธ์ไม่มีปัญหาอะไร รอหัวหน้าและเลขาฯ พรรคเตรียมการให้เรียบร้อยแล้วจะเชิญ รทสช.มาพูดคุยอย่างเป็นทางการ เมื่อได้ความชัดเจนว่า จะร่วมรัฐบาลกันหรือไม่ จะมีการประกาศอย่างชัดเจนอีกครั้ง

สำหรับกรณีที่มีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อยากให้นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิศัยทัศน์นั้น นายภูมิธรรม กล่าวว่า ต้องถามไปยังนายเศรษฐา แต่นายเศรษฐาไม่ใช่ สส.การเข้าไปพูดในที่ประชุมรัฐสภาอาจลำบาก และที่ผ่านมาไม่เคยมีการแสดงวิสัยทัศน์ การตรวจสอบผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ถือเป็นเรื่องจำเป็น ทุกคนสามารถตรวจสอบได้

ขณะที่นายเศรษฐาก็พูดชัดเจนแล้วในประเด็นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาตั้งคำถาม โดยให้บริษัทที่ถูกตั้งคำถามชี้แจง และนายเศรษฐาก็รักษาสิทธิโดยการฟ้องร้องนายชูวิทย์ไปตามกฎหมาย

"เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเลี่ยงภาษี แต่เป็นการบริหารจัดการภาษีตามกฎหมาย เป็นหลักการที่มีการสอนกันในมหาวิทยาลัย เมื่อทุกอย่างทำตามกฎหมายก็ไม่ผิดจริยธรรม มั่นใจนายเศรษฐาไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอย่างแน่นอน" นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลออกมาระบุว่า แกนนำ พท.เดินทางไปพูดคุยด้วยไม่ได้บอกรายละเอียดการเดินหน้าตั้งรัฐบาลว่า ขอยืนยันข้อเท็จจริง การไปพบกับพรรคก้าวไกลวันนั้น ไปในฐานะทีมเจรจา

ส่วนที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดทนายกฯ ไปด้วยนั้น เพราะพรรคก้าวไกลเป็นคนร้องขอมาเพื่อจะได้สบายใจกันทุกฝ่าย นางสาวแพทองธารก็เดินทางไป เราไปอย่างเปิดเผยไม่ปิดบังอะไร

ส่วนกรณีที่มีรายงานข่าวว่า เราไปแจ้งว่า จะเอาสองลุงมาร่วมรัฐบาลนั้นไม่ตรงข้อเท็จจริงอาจจะคลาดเคลื่อน เราบอกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดให้เขาสนับสนุนเราเป็นรัฐบาลได้เพื่อให้เราทำงานได้ แต่ทางพรรคก้าวไกลอยากให้เรากลับไปเป็น 312 เหมือนเดิมซึ่งเราบอกไปว่า จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นใหม่จะยังตั้งรัฐบาลไม่ได้

เราอยากให้ตั้งรัฐบาลให้ได้เพื่อเปิดประตูแก้วิกฤตแต่เขาอยากให้เราเป็นเหมือนเดิม คือ 312 ซึ่งไปไม่ได้ เมื่อไปไม่ได้เราต้องเลือกทางเดินอื่นที่มีไม่กี่ทางซึ่งอาจจะขัดใจประชาชนบ้าง แต่พรรคการเมืองที่จะมาร่วมกับเราก็มาจากประชาชน

หากพรรคก้าวไกลโหวตให้เราก็ขอบคุณ ไม่โหวตก็ไม่ว่ากัน หากเขาเป็นฝ่ายค้าน เราเป็นรัฐบาลถ้าทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ สามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติได้ เราพร้อมสนับสนุนนโยบายของเขาที่เป็นประโยชน์แต่เราจะไม่ยอมเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ

ส่วนที่บอกว่าตนไม่ได้ขอขมา ตนยอมรับว่า เคยพูดว่าจะไปขอโทษขอขมาแต่ที่พูดไปเป็นเพียงสร้อย เพราะไม่รู้สึกว่า ตนทำผิดอะไร แต่ในการพูดคุยตนได้พูดไปว่า หากมีอะไรไม่สบายใจก็ขอโทษ เรามองเรื่องการร่วมมือเป็นหลักจะสามารถแก้ปัญหาได้ ตนยืนยันแล้วว่าถ้าทำงานใหญ่คิดเรื่องใหญ่ต้องใจใหญ่ คิดเรื่องเล็กทำงานใหญ่ไม่ได้

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงความคืบหน้าในการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลนั้น ขณะนี้เรามั่นใจว่าเสียงที่จะสนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของ พท.เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาแล้วและเสียงของ สว.ที่เราได้รับสัญญาณจากหลาย ๆ ฝ่ายก็เห็นว่า ส่วนมากก็ได้แสดงท่าทีที่จะโหวตสนับสนุนแคนดิเดตของพรรค พท. ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราขอขอบคุณ

ส่วนการเชิญพรรค 2 ลุงนั้น หากพรรคใดที่จะมาร่วมสนับสนุนแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของ พท. เราก็ไม่ได้ปิดโอกาสเหมือนที่นายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พปชร.ให้สัมภาษณ์ว่า จะสนับสนุนแคนดิเดท พท. เรื่องนี้ยังพอมีเวลาอยู่อีกระยะ เพราะนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ก็ยังไม่ได้มีการนัดวันประชุมเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี

สำหรับกระแสข่าวที่บางฝ่ายมองว่า ควรดัน นางสาวแพทองธาร แทนนายเศรษฐา ทวีสินนั้น จริง ๆ เราได้มีการพูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นนายเศรษฐา พรรคก็พูดหลายครั้งแล้วว่า เป็นชื่อนายเศรษฐา ฉะนั้น คิดว่าไม่มีการเปลี่ยนอะไรแล้ว

ส่วนการเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ต้องดูตามข้อบังคับ การประชุมรัฐสภาหรือเรื่องของการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนนอกนั้น ข้อบังคับไม่ได้กำหนดให้ผู้ถูกเสนอชื่อต้องเข้าไปในห้องประชุม ฉะนั้นเรื่องนี้ทางประธานรัฐสภาก็ยังไม่ได้ว่าอะไรเลย เราจะฟังทางประธานรัฐสภาเป็นหลัก แต่หากยึดข้อบังคับเป็นหลักปกติแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น สส. ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในรัฐสภา

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่า ยังไม่ได้ยินหรือได้รับการประสานอย่างเป็นทางการกรณีมีข่าวพรรคการเมืองที่จะมาร่วมรัฐบาลกับ พท.ยื่นเงื่อนไขต้องไม่ห้ามนั่งรัฐมนตรีกระทรวงเดิม ไม่เช่นนั้นจะขอเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะเท่าที่ได้คุยกับหัวหน้าพรรคที่จะมาร่วมงานกับ พท.ไม่ได้มีปัญหารุนแรงในเรื่องนี้

หลังนายเศษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกฯ ออกมาพูดในประเด็นดังกล่าว ซึ่งความจริงมาจากคำถามของสื่อว่า หลักการไม่ควรให้นั่งกระทรวงเดิมหรือไม่ ซึ่งนายเศรษฐาพูดเพียงว่า หลักการดูดีเห็นชอบแต่ต้องดูว่าการเชิญพรรคต่าง ๆ มาร่วมต้องให้เกียรติและดูความเหมาะสม ไม่อยากให้ยึดติด

อยากให้ดูนโยบาย คุณสมบัติของคนที่จะมาทำงานเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ ซึ่งเราไม่มีปัญหาอะไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน หน้าที่ของพวกเราต้องประสานงานตั้งรัฐบาลให้ได้

"ประเด็นเหล่านี้ต้องไปดูความเหมาะสม นโยบายตัวบุคคล คิดว่าไม่น่ามีปัญหา เท่าที่คุยกับหัวหน้าพรรคหลักๆ เราพูดเหมือนเดิมว่าอยู่ที่ใครร่วม และส่งสัญญานในการเลือกนายกฯให้เพื่อไทยเป็นแกนนำ มีนายเศรษฐาเป็นนายกฯ

หลังจากนั้นมาพูดเรื่องกระทรวงให้สังคมพอใจและสอดรับนโยบายบายแต่ละพรรคน่าจะดีกว่า ขอความกรุณาจากพรรคร่วมให้ช่วยดูตรงนี้ เอาวาระประเทศวาระประชาชนเป็นที่ตั้ง แล้วดูความเหมาะสมจะแบ่งกันทำงานอย่างไร ทุกเรื่องคุยกันได้หากใช้เหตุใช้ผล อยากให้รอเวลาคุยกันอีกนิดเดียว" นายภูมิธรรม กล่าว

ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองต่าง ๆ อยากให้คุยเรื่องการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีก่อนโหวตนายกฯ นั้น เมื่อเรารวมเสียงมาถึงขั้นนี้แล้วไม่มีปัญหา ถึงเวลาที่เหมาะสมจะทำให้มันชัด ต้องชัดเจนก่อนว่ามีคนพร้อมร่วมรัฐบาลเท่าไหร่ แล้วจะจัดการอย่างไร

ตอนนี้เรามี 238 เสียง พรรคพลังประชารัฐบอกจะโหวตให้โดยไม่มีเงื่อนไขก็รวมเป็น 278 เราต้องทำให้ได้ 375 เสียง และเท่าที่ฟังพรรคการเมืองอื่นๆ ทั้งประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือรวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็พูดทางบวกให้ใช้นโยบายเป็นแกนกลางกำหนดนโบบายทำงาน ดูใครเหมาะสม ใครเป็นหลักเป็นรอง ถ้าคุยด้วยผลประโยชน์ประเทศชาติคุยได้หมด

"ตั้งใจว่า เมื่อเลือกนายกฯแล้ว รัฐบาลจะเดินหน้าทำงานได้ในเดือน ก.ย. คิดว่าจะประเด็นกระทรวงต่างๆ จะเสร็จสิ้นใกล้เคียงกับการโหวตนายกฯ ขอดูเวลาที่เหมาะสม" นายภูมิธรรม กล่าว