ย้อนรอย 22 ปีตั้งรัฐบาล 2 กระทรวงเศรษฐกิจที่ "ทักษิณ" ไม่เคยให้ใคร

11 ส.ค. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2566 | 11:56 น.

ย้อนรอย 22 ปีตั้งรัฐบาล "พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย" 2 กระทรวงเศรษฐกิจของหวงที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไม่เคยแบ่งพรรคร่วมรัฐบาล

ในขณะที่คอการเมืองจับจ้องการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเวลานี้ การต่อรองโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เป็นอีกประเด็นที่มีการถูกพูดถึงหนาหูอยู่เช่นกัน

อย่างไรก็ดี "ฐานเศรษฐกิจ" ขอพาย้อนรอยดูความเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองไทยเฉพาะในส่วนของ "พรรคเพื่อไทย" กันก่อนโดยเริ่มต้นจาก "พรรคไทยรักไทย" ต่อเนื่องมาถึง "พรรคพลังประชาชน" ซึ่งทั้งสองพรรคถูกให้ "ยุบพรรค" ก่อนจะก่อรูปใหม่กลายเป็น "พรรคเพื่อไทย" ในปัจจุบัน

เมื่อเราได้ลองพลิกดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของนับตั้งแต่ พรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องถึงพรรคพลังประชาชน กระทั่งถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบันนั้น 

รัฐบาลภายใต้การนำของ "ไทยรักไทย" ที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ส่งคีย์แมนคนสำคัญ ๆ ของพรรคนั่งคุมเก้าอี้หลักกระจายอยู่ในหลายกระทรวงด้วยกัน ที่น่าสนใจพบว่า มี 2 กระทรวงเศรษฐกิจหลักที่ไม่เคยแบ่งให้พรรคไหนเข้ามาคุม เป็นรัฐมนตรี นั่นคือ กระทรวงพาณิชย์ ที่ดูแลปัญหาปากท้องประชาชน กับกระทรวงการคลัง ที่บริหารภาพรวมเศรษฐกิจ ดูแลการเงิน การคลังของประเทศ

กระทรวงพาณิชย์ โดยช่วงแรกสมัยพรรคไทยรักไทย ทักษิณ ส่ง นายอดิศัย โพธารามิก ดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544 ถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 ก่อนส่งไม้ต่อให้ นายวัฒนา เมืองสุข ซึ่งเข้ารับช่วงต่อตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 ถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2548

ตามด้วยนายทนง พิทยะ เข้าดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2548 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2548 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2548 จนถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 

ก่อนจะถูกคณะปฏิรูปก่อนปกครองในระบอบประชาธิปไตย (คปค.) เข้ายึดอำนาจ ต่อมาภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชนเป็นรัฐบาลได้ส่ง นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นั่งคุมกระทรวงพาณิชย์ ได้ไม่ถึงปี นายไชยา สะสมทรัพย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนก็เข้านั่งกุมบังเหียนกระทรวงนี้แทน (ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2551 -2 ธันวาคม พ.ศ.2551) 

เว้นวรรคไปในช่วงสมัยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นางพรทิวา นาคาศัย เลขาธิการพรรคภูมิใจไทยได้เข้ามาคุมกระทรวงนี้ ต่อมาในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ส่ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง​ ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เริ่มดำรงตำแหน่ง 9 สิงหาคม 2554 จนถึงวันที่ 18 มกราคม 2555

จากนั้นในปี 2554 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์​ จึงได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2555 ถึง วันที่ 30 มิถุนายน 2556 โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล​ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 255 ซึ่งเป็นวันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทย ต่อด้วย พลังประชาชน จนถึง เพื่อไทย นั้น รัฐมนตรีที่คุมกระทรวงพาณิชย์ล้วนเป็นคนของพรรคภายใตเงาทักษิณทุกคน 

เช่นเดียวกับ "กระทรวงการคลัง" ที่มีการหมุนเวียนคนของพรรคมานั่งบริการดูแลกระทรวงนี้มากถึง 7 คนในช่วงปี 2544 เป็นต้นมา เริ่มจากสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สมัยไทยรักไทยได้ให้ นายสมคิด มาเป็น รมว.คลัง ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 - 3 ตุลาคม 2545 ต่อด้วย ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รับไม้ต่อตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 -10 มีนาคม พ.ศ.2547

จากนั้นนายสมคิด เข้ารับช่วงต่อระหว่างวันที่ 11 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2548 ต่อด้วย ดร.ทนง พิทยะ เข้ากุมบังเหียนต่อในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2548 ถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549  
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ - 9 กันยายน พ.ศ. 2551 นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นต้น

เมื่อเทียบกับเก้าอี้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอย่าง กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพลังงาน จะส่งคนของพรรคเข้ามานั่งสลับกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ อยู่เนือง ๆ ดังเช่น 

เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ในช่วงแรกของรัฐบาลนายทักษิณ นั้น นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ จากพรรคชาติไทยพัฒนาได้นั่งเก้าอี้นี้ ก่อนจะส่งนายสรอรรถ กลิ่นประทุม รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน มานั่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้

จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รองหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ในขณะนั้นจึงได้เข้ามานั่งเก้าอี้นี้ต่อ ในปี 2548 -2549 จึงได้ให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งนี้ต่อ เป็นต้น  

ขณะที่เก้าอี้ "กระทรวงพลังงาน" เป็นการสลับคนจากพรรคไทยรักไทย กับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยช่วงปี 45-48 เป็นคนจากพรรคไทยรักไทย อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นั่งดำรงตำแหน่งเป็น รมว.พลังงาน ในปี 2545-2546

ต่อด้วย นายพรหมินทร์ เลิศสุรีย์เดช และนายวิเศษ จูภิบาล ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2546-2549 ต่อมาในรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ได้ดำรงตำแหน่งในปี 2551

ต่อจากนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กระทั่งรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ขณะนั้นเป็นหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา (เดิม คือ พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา) ได้เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงพลังงาน เป็นต้น 

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า กระทรวงหลักคุมเศรษฐกิจไทย อย่าง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรงการคลังไม่เคยหลุดรอดไปอยู่ในมือพรรคการเมืองอื่นตลอดระยะเวลาที่ การเมืองไทย ถูกขับเคลื่อนโดยพรรค ทุกยุคทุกสมัยตลอดช่วงที่ผ่านมา 

ต้องจับตาดูว่าการจัดตั้งรัฐบาล 2566 ที่กำลังจะเกิดขึ้น  ทักษิณ ยังกอด 2 กระทรวงเศรษฐกิจหลัก อย่าง กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้อีกหรือไม่