ลาว-จีนตกลงดอกเบี้ยเงินกู้ โครงการรถไฟเร็วสูง เตรียมถลุง 5 เหมืองชำระคืนเงินกู้ใน 5 ปี

08 ม.ค. 2559 | 11:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ม.ค. 2559 | 11:12 น.
สำนักข่าวอาร์เอฟเอจากสปป.ลาว รายงานว่า ลาวและจีนได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.68 หมื่นล้านบาทซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ประเทศแล้วเมื่อเร็วๆ นี้

[caption id="attachment_25300" align="aligncenter" width="600"] แนวรถไฟฟ้าความเร็วสูง แนวรถไฟฟ้าความเร็วสูง[/caption]

นายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีลาวที่ดูแลโครงการดังกล่าว เปิดเผยต่อที่ประชุมสภาแห่งชาติสปป.ลาวเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ก่อนหน้านี้ฝ่ายจีนเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 3% แต่ฝ่ายลาวขอให้จีนพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง ซึ่งอัตราที่ตกลงกันได้ล่าสุดนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ กระนั้นก็ตาม นายสมสะหวาดระบุว่า อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่อุปสรรคปัญหา เพราะคณะเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้แล้ว และลาวมีแผนใช้รายได้จากเหมืองโปแตช 5 แห่งเป็นเงินชำระคืนเงินกู้ให้แก่จีน

"หลังจากการคำนวณในเรื่องนี้ เราก็ตัดสินใจว่าลาวมีสมรรถนะที่จะจ่ายคืนเงินกู้เนื่องจากเรามีเหมืองแร่โปแตช 5 แห่ง ซึ่งเมื่อขุดแร่ขายก็จะมีรายได้มาชำระคืนเงินกู้ได้ภายในเวลาเพียง 5 ปีแทนที่จะเป็น 30 ปี"

ก่อนหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐบาลฝ่ายลาวได้แสดงท่าทีกังวลใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับโครงการอื่นๆ ในลาวที่จีนเคยออกเงินกู้ให้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอีกบางประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ได้เงินกู้จากจีนในอัตราดอกเบี้ย 2 % สำหรับโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

ในตอนแรกโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟในลาว มีมูลค่าโครงการรวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (กว่า 2.45 แสนล้านบาท) ซึ่งประมาณการว่าจะต้องใช้เงินกู้ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ต่อมาได้มีการปรับลดมูลค่าโครงการลงเหลือ 6.04 พันล้านดอลลาร์ (กว่า 2.11 แสนล้านบาท) ทำให้สัดส่วนเงินกู้ลดลงตามมาอยู่ที่ 480 ล้านดอลลาร์ ก่อนหน้านี้เคยมีรายงานว่า ในระยะ 5 ปีแรกของสัญญาเงินกู้ระยะชำระคืน 20 ปีนั้น จะเป็นช่วงที่ฝ่ายลาวไม่ต้องชำระคืนเงินกู้

เมื่อการก่อสร้างสำเร็จ เส้นทางรถไฟจีน-ลาวจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายรถไฟโดยสารและรถไฟบรรทุกสินค้าที่มีระยะทางยาวถึง 3 พันกิโลเมตร วิ่งจากนครคุนหมิงแห่งมณฑลยูนนานของจีน ตัดผ่านลาว ไทย และมาเลเซีย สู่ประเทศสิงคโปร์ สำหรับสปป.ลาว โครงการนี้คือความหวังที่จะก่อให้เกิดแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

"การสร้างทางรถไฟเป็นโครงการลงทุนมูลค่าสูง แต่ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ โดยก่อนหน้านี้เราเคยมีบทเรียนกันมาแล้วจากโครงการในที่อื่นๆที่ทำให้เห็นว่า โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟนั้นต้องใช้เวลาดำเนินการถึง 30 ปีกว่าจะสร้างรายได้มาคืนทุนที่ลงไป แต่มันจะมีผลสูงในแง่เศรษฐกิจ คือช่วยเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้ประมาณ 32%" รองนายกรัฐมนตรีลาวกล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมกว่านี้ เพียงแต่ยอมรับว่า รัฐบาลลาวคาดหวังว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการ ระยะแรกจะมีผู้โดยสารใช้บริการรถไฟความเร็วสูงประมาณ 4 ล้านคนต่อปี (ระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร) แต่ต่อไปในระยะกลางและระยะยาว คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.1 ล้าน และ 8.1 ล้านคนตามลำดับ

นอกจากนี้ ลาวยังคาดหมายว่า จะมีผู้โดยสารทั้งจากจีนและอีก 5 ประเทศอาเซียนในภาคพื้นทวีป (ซึ่งได้แก่ ไทย เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และสิงคโปร์) มาร่วมใช้บริการอีกเกือบๆ 10 ล้านคนต่อปี ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 11.9 ล้านคนในระยะกลาง และ 16.5 ล้านคนในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของลาวบางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงที่เกิดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการวางแผนและการลงทุนซึ่งไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง เปิดเผยว่า นายสมสะหวาดซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการนี้ ละเลยที่จะพูดถึงอัตราดอกเบี้ยล่าสุดที่ตกลงกันได้แล้ว อีกทั้งยังไม่ยอมพูดถึงความเสี่ยงทางการเงินของการลงทุนในโครงการนี้ด้วย

"ฟังดูไม่ค่อยสมเหตุผลที่เขาบอกว่า ถึงแม้ผลตอบแทนการลงทุนจะต่ำแต่โครงการนี้ก็จะส่งผลกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เป็นแบบนี้เพราะเขาไม่ยอมพูดถึงความเสี่ยงทางการเงิน และตัวเลขหนี้สาธารณะของลาวที่จะพุ่งสูงขึ้นมากเมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์" แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์ออกนามระบุ เขายังกล่าวด้วยว่า ประชาชนลาวทั่วไปจะไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มากนัก

อนึ่ง รัฐสภาลาวได้ให้การรับรองโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวนี้ในปี 2555 โดยคาดหวังว่าการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางที่ทันสมัยและรวดเร็วจะช่วยลดต้นทุนการส่งออกสินค้าของลาวและช่วยลดต้นทุนการกระจายสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกัน โครงการนี้ก็จะช่วยกระจายเม็ดเงินลงทุนลงไปในพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟแล่นผ่าน แต่ในช่วงแรกติดขัดอุปสรรคหลายด้านทำให้โครงการล่าช้าไปมาก เพิ่งจะมีการลงนามกับฝ่ายจีนและวางศิลาฤกษ์เป็นการเริ่มการก่อสร้างโครงการในเชิงสัญลักษณ์เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,120 วันที่ 7 - 9 มกราคม พ.ศ. 2559