เมื่อโบอิ้ง ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตอากาศยานของสหรัฐอเมริกา ประกาศปลดนายเดนนิส มุยเล็นเบิร์ก จากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อ23 ธ.ค. หลังจากที่เขาไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากกรณีความบกพร่องทางเทคนิคที่ทำให้เครื่องบินรุ่น 737 แมกซ์เกิดอุบัติเหตุตกลง ติดต่อกันถึง 2 ลำภายในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 346 ราย และนับจากเดือนมีนาคมจนถึงขณะนี้ เครื่องบินรุ่นดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินทั่วโลก พลันแสงสปอตไลท์ก็สาดส่องจับไปที่นายเดวิด แคลฮูน หรือ “เดฟ” ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของโบอิ้งต่อจากนายมุยเล็นเบิร์ก อย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ม.ค. ปีหน้า ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน และจะสามารถพลิกวิกฤติสุดขมุกขมัวของโบอิ้งให้กลับมากลายเป็นท้องฟ้าที่สดใสได้อีกครั้งหรือไม่
เดฟ แคลฮูน ไม่ใช่ผู้บริหารเลือดใหม่ เขาเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารของโบอิ้งมายาวนานนับ 10 ปีและดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดบริหารในปัจจุบัน ประวัติการทำงานของเดฟเติบโตมาจากสายงานที่แตกต่างจากเดนนิส มุยเล็นเบิร์กที่เป็นวิศวกรโดยตรง เดฟเป็นนักบริหารที่ผ่านการแก้ไขวิกฤติในองค์กรมามากมายนับไม่ถ้วนแล้ว ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานมาจากองค์กรธุรกิจใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งประสบการณ์ 20 ปีกับบริษัทเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี)
นักวิเคราะห์เชื่อว่า เดฟ แคลฮูนมีความเหมาะสมที่จะเข้ามาเป็นอัศวินม้าขาวช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ของบริษัทมากที่สุดในช่วงเวลานี้ เพราะปัญหาของโบอิ้งแม้ส่วนหลักจะมาจากเรื่องทางเทคนิคและวิศวกรรม แต่ส่วนหนึ่งมาจากความบกพร่องด้านการสื่อสาร การบริหารจัดการและควบคุมสถานการณ์หลังเหตุการณ์เครื่องบินตก และการต้องเลื่อนกำหนดที่จะนำเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ขึ้นบินอีกครั้งไปเรื่อยๆ อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโบอิ้งและสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ หรือ เอฟเอเอ ของสหรัฐอเมริกา ก็ไม่ค่อยดีนักทั้งที่เอฟเอเอนั้น เป็นหน่วยงานชี้เป็นชี้ตาย ที่ออกใบอนุญาตรับรองความปลอดภัยว่าเครื่องบินแต่ละรุ่นสมควรนำขึ้นบินให้บริการผู้โดยสารหรือไม่
แหล่งข่าววงในของโบอิ้งกล่าวว่า เป้าหมายหลักของเดฟคือการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา นั่นหมายถึงการสร้างความโปร่งใสมากขึ้นไม่ว่าจะกับสายการบินที่เป็นลูกค้าของโบอิ้งหรือกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยอย่างเอฟเอเอ เพราะก่อนหน้านี้บริษัทถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินที่เป็นปัญหาไม่มากพอ และกระบวนการที่จะนำเครื่องบิน 737 แม็กซ์ขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้งก็ยังไม่ชัดเจน การที่เดฟนั่งตำแหน่งบอร์ดบริหารของโบอิ้งมา 10 ปีซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาที่บริษัทเริ่มโครงการพัฒนาเครื่องบินรุ่น 737 แม็กซ์ ทำให้เขามีข้อมูลมากพอที่จะบอกเล่าชี้แจงไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อบกพร่องใดๆก็ตาม
ก่อนหน้านี้ เดฟเคยมีประสบการณ์รับมือกับภาวะวิกฤตในแวดวงการบินมาแล้ว โดยในช่วง 20 ปีที่เคยร่วมงานกับจีอีในแผนกอากาศยาน เขาเคยฝ่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงการบินเมื่อโลกเผชิญกับการก่อการร้ายที่มีการนำเครื่องบินพาณิชย์ของเอกชนมาเป็นเครื่องมือ นั่นคือเหตุการณ์ 9/11 ที่ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพาณิชย์ 2 ลำเข้าชนตึกเวิลด์เทรดในนิวยอร์คเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544
บริษัทอื่นๆที่เดฟเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงรวมทั้งเป็นบอร์ดบริหารประกอบด้วยบริษัท แบล๊คสโตน กรุ๊ป บริษัท นีลเซ่น โฮลดิ้งส์ บริษัท แคทเตอร์พิลลาร์ และบริษัทเกทส์ อินดัสเตรียล
ข่าวการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร ซึ่งหมายถึงการแต่งตั้งบุคคลที่บริษัทเห็นว่ามีความเหมาะสมในการพลิกฟื้นสถานการณ์และนำองค์กรผ่านพ้นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีของโบอิ้งในครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ขานรับในเชิงบวก โดยหลังจากที่บริษัทประกาศปลดซีอีโอคนเก่าและแต่งตั้งเดฟ แคลฮูนเมื่อวันจันทร์ (23 ธ.ค.) ราคาหุ้นของโบอิ้งในตลาดวอลล์สตรีทก็ดีดตัวขึ้น 3% ซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนคาดหวังเดฟเป็นอัศวินม้าขาวที่จะนำพาองค์กรผ่านวิกฤตครั้งสำคัญนี้
ภารกิจอันดับแรกๆหลังการรับตำแหน่งของเขาคือการสร้างความกระจ่างว่า เครื่องบินโบอิ้ง 737 แม็กซ์จะได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินอีกครั้งเมื่อไหร่ ทั้งนี้ เครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นเครื่องบินรุ่นขายดีที่สุดรุ่นหนึ่งของโบอิ้ง ทำยอดขายไปแล้วมากกว่า 4,000 ลำ และรายได้ของบริษัทในระยะ 10 ปีข้างหน้าก็ยังขึ้นอยู่กับเครื่องบินรุ่นนี้เป็นอย่างมาก
การที่บริษัทไม่สามารถนำเครื่องบิน 737 แม็กซ์ขึ้นบินตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ และคาดว่าจะลากยาวไปถึงปีหน้า ทำให้เมื่อเร็วๆนี้ บริษัทตัดสินใจยุติการผลิตเครื่องบินรุ่นดังกล่าวเป็นการชั่วคราว โดยจะเริ่มมีผลในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ของโบอิ้งทั่วโลก นักวิเคราะห์ประมาณการณ์ว่า การยุติการผลิตชั่วคราวของโบอิ้งในครั้งนี้ อาจจะส่งผลทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯหายไปได้ราวๆ 0.5% เลยทีเดียว