จากบทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงปัญหาผมร่วงและผมบางที่คนจีนยุคใหม่กำลังประสบปัญหา และวิธีแก้ไขด้วยการใช้แชมพูป้องกันผมร่วง จนส่งผลให้ธุรกิจสินค้าป้องกันผมร่วงสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดได้กว่า 10,000 ล้านหยวน โดยเฉพาะการทำตลาดผ่านช่องทาง E-Commerce ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลรวมกว่า 6.1 ล้านล้านหยวน (953,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือคิดเป็น 47% ของยอดค้าปลีกดิจิทัลทั่วโลก และจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามผลสำรวจของบริษัทวิจัย eMarketer ที่ชี้ว่าจะมียอดขายถึงประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 36.35%
ช่องทางออนไลน์เปรียบเสมือนช่องทางลัดสำหรับผู้ประกอบการจากต่างประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการไทยด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องหาช่องทางในการจำหน่ายหน้าร้านให้ยุ่งยาก มีต้นทุนต่ำและสามารถจำหน่ายสินค้าได้ทันที อย่างไรก็ตาม ช่องทางการค้าออนไลน์ในตลาดจีนนั้นค่อนข้างหลากหลาย สามารถเข้าสู่ตลาดด้วยตนเองและการหาพันธมิตรชาวจีน ซึ่งแต่ละช่องทางมีวิธีการ รูปแบบ และกฎระเบียบที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ การทำธุรกิจออนไลน์ในจีนสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1) E-Commerce แบบทั่วไป ซึ่งเป็นช่องทางที่เกิดขึ้นเป็นช่องทางแรกสำหรับการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ในประเทศจีน และเป็นช่องทางที่เปิดมานานทำให้กฎระเบียบต่างๆ ค่อนข้างชัดเจน รวมทั้งเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคมั่นใจและคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ โดยผู้ให้บริการหลัก ได้แก่ Taobao, Tmall, Dangdang และ JD.com
(2) Cross-Border E-Commerce หรือการค้าขายแบบนำเข้าและส่งออกผ่านช่องทาง E-Commerce ซึ่งรัฐบาลจีนมีมาตรการผ่อนผัน และกฎระเบียบที่เอื้อให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีนได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การทำ Cross-border e-commerce นั้นก็ยังไม่เหมาะกับ SMEs ไทยที่ไม่มีประสบการณ์ เพราะมีเรื่องภาษี ระบบการเรียกเก็บเงิน และรูปแบบโลจิสติกส์ที่ซับซ้อนกว่าการซื้อมาขายไปในประเทศอยู่มาก โดยผู้ให้บริการ Online Platform หลักของ Cross-Border E-Commerce ได้แก่ Tmall Global และ JD Worldwide
อย่างไรก็ดี การที่จะทำตลาดออนไลน์ในจีนได้นั้น สิ่งสำคัญคือการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน และรู้ว่าใครคือเป้าหมายหลัก เช่น คนจีนรุ่นใหม่ประสบปัญหาผมร่วงมากขึ้นและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ หลังจากนั้นผู้ประกอบการอาจจะต้องเลือกช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับสินค้าและกลุ่มเป้าหมายของตนเอง ควบคู่ไปกับการทำการตลาดต่าง ๆ เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น ซึ่งผลสำรวจจากบริษัทวิจัยตลาดโลกอย่าง Mordor Intelligence ก็ได้ยืนยันว่า Social media มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อคนในประเทศจีน โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดธุรกิจผมร่วง บวกกับแนวโน้มเทรนด์ Digital Marketing ของจีนก็ได้เติบโตขึ้นมาก ซึ่งในขณะนี้การตลาดออนไลน์ของจีนเติบโตเป็นอันดับ 1ของโลก โดยจากรายงานของ China Internet Watch ในปี 2560 ชี้ว่ายอดขายปลีกทั้งหมดในจีนอยู่ที่ 5,781,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 18.4% มาจากช่องทางออนไลน์
นอกจากนี้ การสื่อสารโดยใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยและกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับธุรกิจที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีนซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ การดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับการขายจึงจะต้องใช้ภาษาจีนในการสื่อสารกับผู้บริโภค ในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการ ไทยควรมีเครือข่ายและพันธมิตรในจีน เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือช่วยอำนวยความสะดวก ต่อการเข้าสู่ตลาดการชำระเงิน การจัดส่งสินค้า รวมถึงการให้บริการหลังการขายซึ่งผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างคาดหวังกับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องมีความรอบคอบในการเลือกพันธมิตรที่น่าเชื่อถือ และมีความเชี่ยวชาญทางด้าน E-Commerce ในจีนอย่างแท้จริง
ตลาด E-Commerceของจีนยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก แต่ก็มีการแข่งขันสูงผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เลือกใช้ช่องทางการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ให้เหมาะสม ศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดขั้นตอนการนำเข้าสินค้า กฎระเบียบ การหาพันธมิตร อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อช่วยให้การเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีนนั้นเป็นไปอย่างราบรื่นยิ่งขึ้น
หน้า 23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2563