ไม่ยั่นโควิด "นิวยอร์ก" ยังคงครองแชมป์ "ศูนย์กลางการเงิน" ชั้นนำของโลก

03 ต.ค. 2563 | 07:42 น.

โควิด-19 ก็ทำอะไรไม่ได้ “นิวยอร์ก” ยังคงครองแชมป์ “ฮับการเงิน” ชั้นนำของโลกในดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (Global Financial Centers Index - GFCI) โตเกียวตกสู่อันดับ 4  ขณะที่กรุงเทพฯ เข้าอันดับเป็นลำดับที่ 58

 

Z/Yen Group บริษัทที่ปรึกษาเชิงพาณิชย์และบริษัทร่วมทุนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน และสถาบันการพัฒนาจีน (CDI) ในเมืองเสิ่นเจิ้นทางใต้ของจีน เปิดเผยรายงาน ดัชนีศูนย์กลางการเงินโลก (Global Financial Centers Index - GFCI) ระบุว่า นครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา ยังคงครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยกรุงลอนดอนของอังกฤษ เป็นอันดับสอง ขณะที่นครเซี่ยงไฮ้ของจีน สามารถแซงหน้ากรุงโตเกียวของญี่ปุ่นขึ้นมาครองอันดับสาม และโตเกียวถูกเบียดหล่นมาอยู่ที่อันดับ 4 ในรายชื่อท็อปเท็น หรือ 10 อันดับแรกของเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น "ศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก" 

ไม่ยั่นโควิด \"นิวยอร์ก\" ยังคงครองแชมป์ \"ศูนย์กลางการเงิน\" ชั้นนำของโลก

ส่วน “ฮ่องกง” ที่เจอมรสุมการชุมนุมประท้วงที่ยิดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จนมาถึงปีนี้ถูกสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนสถานะที่ได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษ ก็ยังสามารถขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 6 โดยเบียดสิงคโปร์หล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 6

 

ในการปรับปรุงดัชนี Global Financial Centers Index ครั้งก่อนหน้านี้ล่าสุดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา โตเกียวไต่ขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 3 จากอันดับ 6 ในเดือนก.ย. 2562 โดยดัชนีดังกล่าวจะได้รับการปรับปรุงปีละ 2 ครั้งทุกเดือนมี.ค.และก.ย.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นิวยอร์กเลวร้ายสุด เสียชีวิตโควิดทะลุหมื่นราย

"ฮ่องกง"พังแต่ความเป็นศูนย์กลางการเงินยังไม่พัง

ชี้เสินเจิ้นห่างชั้นฮ่องกง ฝันศูนย์กลางการเงินโลก

 

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ดัชนี Global Financial Centers Index ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งที่ 28 (GFCI 28) เป็นการประเมินขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอนาคต และเป็นการจัดอันดับศูนย์กลางการเงินขนาดใหญ่ 111 แห่งทั่วโลก ซึ่งกรุงเทพมหานครของไทยอยู่ในอันดับที่ 58

ลอนดอนมาเป็นอันดับสอง

ทั้งนี้ 10 อันดับศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลก ล่าสุด ได้แก่

1. นิวยอร์ก

2. ลอนดอน

3. เซี่ยงไฮ้

4. โตเกียว

5. ฮ่องกง

6. สิงคโปร์

7. ปักกิ่ง

8. ซานฟรานซิสโก

9. เสิ่นเจิ้น

10. ซูริค

ในส่วนของกรุงโตเกียวนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามที่จะเพิ่มความน่าดึงดูดใจของกรุงโตเกียวในฐานะศูนย์กลางการเงินโลก โดยร่วมมือกับธนาคารและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดสถาบันและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามา แต่ก็ยังไม่สามารถรักษาอันดับที่ 3 ไว้ได้

 

ส่วนปักกิ่งและซานฟรานซิสโกยังคงอยู่ที่อันดับเดิม คือ 7 และ 8 ตามลำดับ ขณะที่เสิ่นเจิ้นและซูริคเพิ่งเข้ามาติดท็อปเท็นที่อันดับ 9 และ 10 ตามลำดับ เบียดเมืองลอสแองเจลิส และเจนีวา ให้หลุดกระเด็นออกจากอันดับท็อปเท็นในการจัดอันดับครั้งล่าสุด

 

รายงาน GFCI ล่าสุดที่เปิดเผยเมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมานั้น ศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกได้รับการจัดอันดับที่แตกต่างกันไป โดย 10 เมืองมีอันดับลดลง และ 14 เมืองมีอันดับเพิ่มขึ้น