กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยวันนี้ (12 พ.ย.) ว่า การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ซึ่งปีนี้จัดประชุมผ่านระบบทางไกลเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ได้ร่วมพิธีเปิดและการประชุมแบบเต็มคณะในช่วงเช้า ที่ทำเนียบรัฐบาล
ในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะ รับรองเอกสาร 6 ฉบับ ได้แก่
(1) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 (Ha Noi Declaration on the ASEAN Community’s Post-2025 Vision)
(2) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการรับรองแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2021-2025) (Ha Noi Declaration on the Adoption of the Initiative for ASEAN Integration Work Plan IV (2021-2025)
(3) ปฏิญญากรุงฮานอยว่าด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับงานสังคมสงเคราะห์เพื่อมุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นและตอบสนอง (Ha Noi Declaration on Strengthening Social Work towards Cohesive and Responsive ASEAN Community)
(4) เอกสารว่าด้วยอัตลักษณ์อาเซียน (The Narrative of ASEAN Identity)
(5) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการท่องเที่ยวเชิงดิจิทัล (ASEAN Declaration on Digital Tourism) และ
(6) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยกรอบข้อตกลงระเบียงการเดินทางของอาเซียน (ASEAN Declaration on a Framework ASEAN Travel Corridor Arrangement)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เกาะติดและอัพเดท การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 12-15 พ.ย.63
เปิดประชุมอาเซียนครั้งที่ 37 ไทยเสนอ 4 ประเด็นสู้วิกฤติโควิด
ประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ตอกย้ำ “การพัฒนาที่มั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่ง สังคมยั่งยืน”
นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนยังได้เห็นชอบกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Recovery Framework) ด้วย
การประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้ เวียดนามเป็นประธานและเจ้าภาพจัดการประชุม นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวในพิธีเปิดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล ซึ่งมีผู้นำอาเซียน ผู้นำประเทศคู่เจรจา เลขาธิการอาเซียน เลขาธิการสหประชาชาติ รวมทั้งแขกพิเศษ ได้แก่ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้แทนพิเศษเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนา และประธานธนาคารโลก เข้าร่วมด้วย โดยระบุในช่วงหนึ่งว่า ความสำเร็จของการเป็นประธานอาเซียนในปีที่นี้ ภายใต้แนวคิดหลัก“แน่นแฟ้นและตอบสนอง” เกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตอกย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือร่วมใจของอาเซียนในการฟันฝ่าอุปสรรคและความท้าทายต่าง ๆ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน
นายกรัฐมนตรีเวียดนามเน้นย้ำว่า อาเซียนจำเป็นต้องเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอกเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค โดยรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามยังได้แสดงความยินดีที่ในปีนี้ อาเซียนสามารถบรรลุผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียน อาทิ การทบทวนกึ่งวาระของแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 การเริ่มต้นกระบวนการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การทบทวนการดำเนินการตามกฎบัตรอาเซียน การส่งเสริมภาพลักษณ์และความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียน และการส่งเสริมการดำเนินการของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของอาเซียน