ทำความรู้จักบิ๊กวัคซีนจีน “ซิโนแวค ไบโอเทค”

05 ม.ค. 2564 | 20:10 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2564 | 23:47 น.

 

ชื่อของ “ซิโนแวค” (Sinovac) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีนเป็นที่คุ้นหูคุ้นตามาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ในฐานะผู้ผลิต วัคซีน “โคโรนาแวค” (CoronaVac) หนึ่งใน วัคซีนตัวเต็งของจีน ที่ได้รับการจับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากมีการร่วมวิจัยและพัฒนาในหลายภูมิภาคนอกประเทศจีน อีกทั้งยังมีข้อตกลงร่วมผลิตในต่างประเทศ รวมทั้งในอินโดนีเซีย ที่เป็นชาติสมาชิกอาเซียน

 

แต่จู่ ๆ พลันชื่อของ “ซิโนแวค” ก็ถูกสปอตไลท์สาดส่องเป็นที่สนใจของคนไทยเป็นพิเศษเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบกลางให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้ในการจัดซื้อวัคซีนต้านโควิด 2 ล้านโดสจากบริษัทดังกล่าว ซึ่งการส่งมอบจะมีขึ้นเป็นระยะระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย. ศกนี้ ประกอบกับมีรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศทั้งนิคเคอิ เอเชียน รีวิว และรอยเตอร์ว่า บริษัท ซีพี ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป ซึ่งเป็น บริษัทในเครือซีพี ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ทุ่มเงินก้อนโตกว่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซื้อหุ้น 15 % ของบริษัท "ซิโนแวค ไลฟ์ไซเอินส์" (Sinovac Life Sciences) หน่วยธุรกิจที่รับผิดชอบการผลิตวัคซีน “โคโรนาแวค” ของบริษัทซิโนแวคโดยตรง

 

 

วันนี้ เราจึงต้องมาทำความรู้จักบริษัท “ซิโนแวค” และวัคซีน “โคโรนาแวค” กันให้มากยิ่งขึ้น

 

ทำความรู้จักบิ๊กวัคซีนจีน “ซิโนแวค ไบโอเทค”

“ซิโนแวค” หรือในชื่อเต็มว่า ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech Ltd.) เป็นบริษัทผู้ผลิตยาและชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน ที่เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด ก่อตั้งในปี พ.ศ 2542 (ค.ศ. 1999) โดยนายอิน เว่ยตง  (Yin Weidong) อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง

 

ผลงานก่อนหน้านี้ของบริษัท ซิโนแวคในด้านการผลิตวัคซีน ได้แก่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ (ชื่อทางการค้า Healive) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ( ชื่อทางการค้า Bilive) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ชนิด H5N1 (ชื่อทางการค้า Panflu) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ชื่อทางการค้า Anflu) เป็นต้น

 

บริษัทจดทะเบียนเข้าตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐ (NASDAQ: SVA) มีมูลค่าตามราคาตลาดที่ประมาณ 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นซิโนแวคทำให้ตลาดระงับการซื้อขายหุ้นของบริษัทมาตั้งแต่เดือนก.พ. 2562  ข้อมูลใน เว็บไซต์ของบริษัท ระบุว่า ยอดขายล่าสุดของไตรมาส 3/2563 เพิ่มขึ้นจาก 64.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็น 115.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 79.4%  ส่วนยอดขายรวมของ 9 เดือนแรกปี 2563 เพิ่มขึ้น 11.1% จาก 164.9 ล้านดอลลาร์เป็น 183.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่รายได้จากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้น 101.7% (เป็นงบการเงินที่ยังไม่ได้ตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชี)

เดือนม.ค. 2563 เมื่อเริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงมากขึ้นในประเทศจีน ซิโนแวคเริ่มการวิจัยและพัฒนาวัคซีน “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ขึ้นมาเพื่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ กระทั่งเดือนมิ.ย. 2563 ผลการทดสอบทางคลินิกขั้นที่ 1/2 ในเมืองซุยหนิง มณฑลเจียงซู ประเทศจีน ซึ่งทดสอบกับอาสาสมัคร 743 คน ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง

 

 มีการเผยแพร่ผลการทดสอบขั้นที่ 1/2 อย่างเป็นทางการในวารสารทางวิชาการการแพทย์ The Lancet ระบุว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรก วัคซีนโคโรนาแวคช่วยสร้างแอนติบอดีที่ทำให้เชื้อโควิด-19 เป็นกลางได้ในตัวอาสาสมัคร 109 คนจาก 118 คน หรือ 92% ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 3 ไมโครกรัม และสร้างแอนติบอดีในอาสาสมัคร 117 คนจาก 119 คน หรือ 98% ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน 6 ไมโครกรัม

 

ต่อมาในเดือนก.ค. 2563 จึงเริ่มมีการทดสอบขั้นที่ 3 (ซึ่งเป็นการทดสอบขั้นสุดท้าย)ในต่างประเทศ คือ บราซิล อินโดนีเซีย และตุรกี ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนได้อนุมัติการใช้วัคซีนโคโรนาแวคในกรณีฉุกเฉิน สามเดือนต่อมา จีนได้ฉีดวัคซีนโคโรนาแวคให้กับบุคลากรที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ท่าเรือ และพนักงานบริการสาธารณะ

 

ซิโนแวคตั้งเป้าผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยกำลังผลิตอย่างน้อย 300 ล้านโดสต่อปีในโรงงานของบริษัทเอง ขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงร่วมผลิตกับพันธมิตรในหลายประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีปริมาณวัคซีนเพียงพอกับความต้องการใช้ทั่วโลก

 

จุดเด่นของวัคซีนกลบประเด็นคาใจ

ประเด็นที่ยังคาใจและก่อให้เกิดคำถามราวช่วงกลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ก็คือความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการแถลงผลการทดสอบวัคซีนโคโรนาแวค เนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2563 สถาบันบูตันตัน (Instituto Butantan) ซึ่งดูแลการทดสอบวัคซีนโคโรนาแวคในประเทศบราซิล ได้ออกมาแถลงว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 50% ในการป้องกันโควิด-19 แต่หลังจากนั้นเวลาไล่เลี่ยกัน ทางซิโนแวคก็ขอให้ทางสถาบันระงับการแถลงผลการทดสอบ หลังจากนั้นไม่ถึง 2 สัปดาห์ คือในวันที่ 24 ธ.ค.2563 พันธมิตรทดสอบวัคซีนโคโรนาแวคในประเทศตุรกี ก็ได้ออกมาแถลงผลการทดสอบทางคลินิกขั้นที่ 3 ว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงถึง 91.5% ซึ่งแตกต่างกันมากกับผลการทดสอบในบราซิล

 

แต่กระนั้นก็ตาม ด้วยข้อได้เปรียบหลายประการทำให้วัคซีนโคโรนาแวคได้รับความสนใจจากหลายประเทศ หนึ่งในข้อได้เปรียบดังกล่าวก็คือ วัคซีนตัวนี้ไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้แช่แข็ง สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป คือ 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นเวลานานถึง 3 ปี นับว่าเอื้อต่อการขนส่งและกระจายวัคซีนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนที่ระบบโลจิสติกส์ยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก

 

ปัจจุบันมีหลายประเทศที่จองซื้อวัคซีน “โคโรนาแวค” ของบริษัทซิโนแวค นอกเหนือจากไทยซึ่งจองซื้อจำนวน 2 ล้านโดส เตรียมทยอยรับระหว่างเดือนก.พ.-เม.ย.นี้ ก็ยังมีประเทศอื่น ๆ (ไม่นับรวมจีนเอง) ได้แก่ บราซิล ชิลี ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ตุรกี และยูเครน  สนนราคาสั่งจองอยู่ที่ราว ๆ 30 ดอลลาร์ต่อโดส หรืออาจถูกลงกว่านั้นขึ้นกับปริมาณที่สั่งจอง

วันที่ 2 ก.ย. 2563 นายอรรถยุทธ์ศรีสมุทร เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ได้เข้าพบหารือ กับนายอิน เว่ยตง (ยืนกลาง) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Sinovac Biotech รวมทั้งคณะผู้บริหาร เพื่อรับฟังแผนการดำเนินงานในเรื่องวัคซีน COVID-19 ของบริษัท และหารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในด้านนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย (ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง)

คุณสมบัติวัคซีน “โคโรนาแวค”

โคโรนาแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย หรือ Inactivated Vaccine ที่มนุษย์คุ้นเคยมาเนิ่นนานนับศตวรรษ (เป็นรูปแบบเดียวกับวัคซีนโรคฝีดาษและวัคซีนโปลิโอชนิดฉีด) ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย

 

นักวิจัยของซิโนแวค เริ่มสร้างวัคซีน “โคโรนาแวค” ด้วยการหาตัวอย่างของเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วยในจีน อังกฤษ อิตาลี สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเลือกใช้ตัวอย่างเชื้อจากประเทศจีนเป็นพื้นฐานของวัคซีน จากนั้นนักวิจัยได้ขยายพันธุ์เชื้อโควิด-19 ในเซลล์ไตของลิง ก่อนจะนำไปแช่ในสารเบตา-โพรพิโอแลกโตน (beta-propiolactone) เพื่อทำให้เชื้อโควิด-19 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ แต่โปรตีนและโครงสร้างต่าง ๆ ยังอยู่ครบถ้วน หลังจากนั้น นักวิจัยจะดึงไวรัสที่ตายมาผสมกับสารประกอบอลูมิเนียม ซึ่งสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เพิ่มการตอบสนองต่อวัคซีน

 

เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ในวัคซีนโคโรนาแวคเป็นเชื้อตาย จึงสามารถฉีดเข้าที่แขนของมนุษย์ได้โดยไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่ออยู่ภายในร่างกาย ไวรัสเชื้อตายบางส่วนจะถูกกลืนเข้าไปโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่ง แล้วระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะทำงานและคัดเลือกเซลล์ภูมิคุ้มกันขึ้นมาตอบสนองต่อวัคซีน เกิดการหลั่งแอนติบอดีที่มีรูปร่างเหมือนกับโปรตีนของโควิด-19 ขัดขวางป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายอื่น ๆ

 

ผู้ที่รับการฉีดวัคซีนโคโรนาแวคต้องรับวัคซีน 2 โดส/คน  และการฉีดเข็มแรกกับเข็มที่สองจะทิ้งช่วงเวลาห่างกันประมาณ 2 สัปดาห์

ยังคงมีประเด็นคำถามที่ว่า ถึงแม้วัคซีนโคโรนาแวคจะสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่นักวิจัยก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภูมิคุ้มกันนั้นจะอยู่ได้นานแค่ไหน มีความเป็นไปได้ว่าระดับของแอนติบอดีจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปหลายเดือน แต่ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีเซลล์พิเศษที่เรียกว่าเซลล์หน่วยความจำ B ที่อาจเก็บข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ไว้ในร่างกายเป็นเวลาหลายปีหรือหลายทศวรรษได้

 

เป็นที่คาดหมายว่า ผลการทดสอบวัคซีนโคโรนาแวคขั้นที่ 3 จะแล้วเสร็จและมีการเผยแพร่ออกมาโดยละเอียดในช่วงเดือนม.ค.นี้ นับเป็นความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ที่มีผู้รอคอยติดตามผลในหลายประเทศทั่วโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน ลงทุนผลิตวัคซีน “ซิโนแวคไบโอเทค"

ไขคำตอบทำไม “ซีพี” เลือกร่วมทุนผลิตวัคซีน “ซิโนแวค ไบโอเทค”

สธ.เผยข่าวดี คนไทยได้วัคซีนโควิดล็อตแรก 2 แสนโดส ก.พ.นี้

 

ข้อมูลอ้างอิง

How the Sinovac Vaccine Works

Sinovac secures $515m funding to boost COVID-19 vaccine production

Indonesia is set to become the hub for Chinese vaccines in Southeast Asia. How does the country benefit?