แหล่งข่าวจากภาคเอกชนไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมาได้เล่าถึงที่มาที่ไปของสถานการณ์ และคาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากผลพวงการเลือกตั้งทั่วไปในเมียนมาครั้งล่าสุด(ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2563)ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีการทุจริตเกิดขึ้น แต่หลักฐานยังไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอ ทั้งนี้พรรค USDP (หรือพรรคสามัคคีและพัฒนา ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ) ที่แพ้การเลือกตั้งให้กับพรรค NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่มีอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ) ค่อนข้างจะถล่มทลาย ได้ไปแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ของเมียนมาขอให้ตรวจสอบเรื่องของ “บัตรผี”ที่เกิดขึ้นจำนวน 8.6 ล้านกว่าบัตร หรือ 8.6 ล้านกว่าคะแนน
ซึ่งทางกกต.ของเมียนมาเห็นว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนก็เลยไม่ค่อยใส่ใจเหมือนกับว่าเพิกเฉย ทำให้ทาง USDP หรือพรรคทหารไม่ค่อยพอใจ เพราะได้ยื่นเรื่องนี้ให้ตรวจสอบมาหลายครั้งแล้ว โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเลือกตั้งเสร็จ
กระทั่งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญของเมียนมาครั้งที่ 1 ของปี 2564 เพื่อฟอร์มรัฐบาล แต่พอดีจังหวะเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาทางพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมาได้ไปมอบใบประกาศนียบัตรให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมทางการทหาร(เหมือนผู้จบการฝึกอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรของไทย) ได้พูดออกมาตอนหนึ่งว่า "ถ้าหากคนไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญไปก็ไม่มีประโยชน์ ก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้" ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการขู่เล็ก ๆ
หลังจากนั้นมาอีก 2 วันก็มีการไปเดินขบวนที่กรุงเนปิดอว์(โดยผู้สนับสนุนพรรค USDP) เพื่อประท้วง กกต.ของเมียนมา(UEC) ทางทหารก็เลยให้กองกำลังตำรวจ และหน่วยงานรักษาความมั่นคงของชาติออกมาหลายท้องที่ มีการเอารถถังออกมาเหมือนมีการตอบรับ(เรื่องให้มีการทำปฏิวัติรัฐประหาร) ก็เลยเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นมา
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำเมียนมาออกมาคัดค้านประมาณ 20 ประเทศ (คัดค้านยกเลิกประชาธิปไตย และมีการทำปฏิวัติรัฐประหาร) คืออยากเห็นกองทัพเคารพประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง (จากที่ผบ.สูงสุดของเมียนมาพูดในทำนองว่ายกเลิกได้) ซึ่งพอทางทูตออกมาก็ยิ่งเป็นข่าว
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงปัจจุบันพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ก็ไม่ได้ใส่ใจกับกลุ่มนี้เท่าไรนัก เพราะท่านก็โดนมาเยอะก่อนหน้านี้ เช่นโดนเรื่องของโรฮิงยาที่ต้องไปขึ้นศาลโลก เรื่องของสหรัฐฯที่ถอดถอนวีซ่าท่านก็โดนมาหมดแล้ว
ทั้งนี้ถ้ามองตามหลักแล้วพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย น่าจะแคร์ประเทศจีนมากที่สุด เพราะตอนนี้จีนลงทุนในเมียนมาค่อนข้างมาก และมีการเซ็น MOU กันระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน กับประธานาธิบดี อู วิน เมี่ยน ของเมียนมาเมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2563 ไป 30 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน โดยมากจะเป็นการลงทุนใหญ่ ๆ ที่จีนจะมาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในเมียนมา ซึ่งก็ได้มีการโอนเงิน และดำเนินการไปแล้วประมาณ 30-40% เช่น โครงการการเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิ่ว (Kyaukphyu Special Economic Zone - KPSEZ) ซึ่งเป็นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งที่ 3 ของเมียนมา ได้ลงไปมากแล้วทั้งทางด่วน รถไฟความเร็วสูง ที่จีนจะเอาเมียนมาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของ One Belt One Road (OBOR)
“ถ้าหากจีนออกมาห้ามปรามเรื่องนี้ผมก็เชื่อว่ามันก็คงจะจบ และเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐมนตรีต่างประเทศของจีน(นายหวัง อี้)ได้ไปที่เมียนมาและได้เข้าพบนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาสูงสุดแห่งรัฐเมียนมา และพบกับนายอู วิน เมี่ยน ประธานาธิบดีของเมียนมา และยังไปพบกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา(พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย) ก็ไปพบมาแล้ว ก็ไม่ทราบว่ามีข้อตกลงอะไรกันหรือไม่ อันนั้นคือประเด็นหลัก ความเป็นจริงการทุจริตเลือกตั้งในเมียนมา ก็มีกันทั้งสองฝ่าย แต่ครั้งนี้ค่อนข้างรุนแรงที่สุด ซึ่งพออีกฝ่ายแพ้ก็มีการกล่าวอ้างว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น”
ทั้งนี้พรรค USDP เป็นพรรคฝ่ายค้านของเมียนมาที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร แต่ครั้งนี้ผลการเลือกตั้งพรรค USDP แพ้ราบคาบ ซึ่งโดยรัฐธรรมนูญของเมียนมา สัดส่วน 25% ของผู้แทนในสภาต่าง ๆ จะมอบให้กับกองกำลังรักษาความมั่นคงของชาติ(หรือทหาร)ไม่ว่าจะเป็นสภาสูง หรือสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาชาติพันธุ์ ที่เหลืออีก 75% จะเป็นการเลือกตั้ง แต่ประเด็นคือการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ พรรค USDP ที่ได้รับการสนับสนุนจากทหารได้คะแนนประมาณ 5% เท่านั้น ที่เหลือพรรค NLD (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยที่มีอองซาน ซูจี เป็นผู้นำ) กวาดเรียบ และก็มีพรรคของชนชาติพันธุ์บ้างเล็กน้อย โดยพรรค NLD พรรคเดียวได้ไปกว่า 60% แล้ว การแพ้อย่างราบคาบก็ทำให้เกิดความไม่พอใจ
สถานการณ์เหตุการณ์ล่าสุดในเมียนมา(30 ม.ค.2564) จากรายงานของสำนักข่าวซินหัวของจีน นักวิเคราะห์ข่าวของซินหัวก็ออกมาวิเคราะห์ข่าว 3 ข้อ คือ โอกาสที่จะมีการรัฐประหารค่อนข้างจะยาก เพราะทางชาติตะวันตกทั้งหมดไม่ยอมรับกติกาการทำรัฐประหาร เขายอมรับแต่ประชาธิปไตย ข้อที่ 2 คือ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ก็ทราบดีว่าถ้าเกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเศรษฐกิจของประเทศจะพังได้ และ 3.ทหารที่พูดออกมาก็ยังกำกวมว่าจะทำรัฐประหารหรือไม่ก็ไม่ใช่ อาจจะตีความกันผิดก็ได้
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 30 มกราคม 2564 ทางกองกำลังรักษาความมั่นคงของชาติแห่งเมียนมาก็ออกมาให้ข่าวว่า ผู้สื่อข่าวตีความผิด คือทหารเองไม่ได้มีความคิดที่จะทำรัฐประหาร เพียงแต่ต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญปี 2008 (ปี พ.ศ.2551)ให้ยั่งยืน ซึ่งดูจาก 2 วันที่ผ่านมาแล้วโอกาสที่จะเกิดรัฐประหารคงยาก แต่ก็อยากให้จับตามองไปที่วันพรุ่งนี้(1 ก.พ.2564) ว่าเมียนมาจะมีการประชุมรัฐสภาหรือไม่ ถ้ามีการประชุมเรื่องการทำรัฐประหารก็คงจะจบไป แต่ถ้าไม่มีการประชุมก็ "น่าห่วง"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมียนมารัฐประหาร ทหารคุมตัว"อองซาน ซูจี"
กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์“ไม่ยึดอำนาจ”
ประท้วงใน “เมียนมา” ยังไม่กระทบค้าไทย