ไทม์ไลน์ "รัฐประหาร​เมียนมา"​ จากข่าวลือถึงการจับกุม "อองซาน ซูจี”

01 ก.พ. 2564 | 01:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2564 | 03:19 น.

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมาเข้าสู่ภาวะตึงเครียด ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการก่อรัฐประหารของกองทัพ และการจับตามองด้วยความกังวลจากนานาประเทศ  

สำนักข่าว บีบีซี รายงานลำดับเหตุการณ์นับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปลายปี 2563 มาจนถึงข่าวลืออื้ออึงเกี่ยวกับ การรัฐประหารในเมียนมา ว่าเค้าลางเริ่มมาตั้งแต่ที่ พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี (NLD) ภายใต้การนำของ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 อย่างถล่มทลาย ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยที่ 2 โดยคว้าที่นั่งในสภาไปถึง 346 ที่นั่ง แบ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง 258 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง) และสภาชนชาติ หรือสภาสูง 138 ที่นั่ง (เพิ่มขึ้นจากเดิม 3 ที่นั่ง)

 

ชัยชนะดังกล่าวทำให้พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (ยูเอสดีพี - USDP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพต้องเป็นฝ่ายค้านอีกครั้ง โดยยูเอสดีพีมีเสียงในสภาล่าง 26 ที่นั่ง และสภาชนชาติ 7 ที่นั่ง (ลดลงจากเดิมสภาละ 4 ที่นั่ง)

 

อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมาได้ออกมายืนกรานท่าทีว่า มีการทุจริตการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้รัฐบาลเลื่อนการเปิดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ที่กำหนดไว้ในวันที่ 1 ก.พ. ออกไปก่อน แต่รัฐบาลเมียนมาก็ไม่นำพาข้อเรียกร้องดังกล่าว นำมาซึ่งการบุกรวบตัวผู้นำพรรค NLD แกนนำก่อตั้งรัฐบาลในที่สุด

 

เรามาดู ไทม์ไลน์อุณหภูมิการรัฐประหารในเมียนมา ที่ระอุขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

26 ม.ค. โฆษกกองทัพเมียนมาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่กองทัพจะเข้ายึดอำนาจ เพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิกฤตทางการเมือง"

 

27 ม.ค. พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา กล่าวในงานให้โอวาทนักเรียนเตรียมทหารแห่งวิทยาลัยป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม ถึงความเป็นไปได้ในการยกเลิกรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยบอกว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายแม่ของกฎหมายทั้งปวง แต่ "คงจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ หากคนไม่ปฏิบัติตาม" ทั้งนี้ถ้อยแถลงของ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เมียวดีฉบับวันรุ่งขึ้นด้วย

 

28 ม.ค. มีการประชุมร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับคณะทหาร ที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดีจะออกมาเปิดเผยกับรอยเตอร์สว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" ในการหาทางออกจากวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น

 

29 ม.ค. ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคยูเอสดีพีหลายร้อยคนชุมนุมประท้วง กกต. ทั้งที่กรุงเนปิดอว์และกรุงย่างกุ้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บและไม่มีรายงานการใช้ความรุนแรง

 

30 ม.ค. กองทัพเมียนมาออกแถลงการณ์ "สยบข่าวลือ" การก่อรัฐประหารที่ดังหนาหูตลอดสัปดาห์ โดยยืนยันว่าจะมุ่งมั่น "ปกป้องรัฐธรรมนูญและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด"

 

31 ม.ค. กองทัพเมียนมาแถลงการณ์ เรียกร้องให้บรรดานักการทูตต่างชาติในเมียนมาอย่าเพิ่งคาดเดาอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ และขอให้นานาชาติ “อย่ายอมรับ” ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาว่าเป็นเรื่องปกติ

 

1 ก.พ. โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวกับบีบีซีว่า นาง ซู จี และ ผู้นำของพรรคหลายคน รวมทั้งประธานาธิบดีอู วิน มินท์ ถูกทหารพาตัวจากบ้านพักไปตั้งแต่ช่วงรุ่งสาง

 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดในขณะนี้นั้น (เช้าวันที่ 1 ก.พ.) นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานว่า มีทหารอยู่ตามท้องถนนในกรุงเนปิดอว์ และเมืองหลวงเก่า คือ นครย่างกุ้ง บีบีซีแผนกภาษาพม่ายังรายงานด้วยว่า การสื่อสารทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตถูกตัดขาด และอ้างสมาชิกครอบครัวของรัฐมนตรีหลายคนที่ดูแลแต่ละภูมิภาคว่า มีทหารมาพาตัวนักการเมืองเหล่านั้นไปจากบ้านพัก

ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิมนุษยชน Burma Rights UK ซึ่งทวีตข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์จับกุมตัวนางอองซานและเจ้าหน้าที่รัฐบาลเมียนมาว่า เป็นเรื่องที่สุดเจ็บปวดและจะสร้างความเสียหายอย่างมาก ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้นานาประเทศตอบโต้การกระทำของกองทัพเมียนมาอย่างแข็งกร้าวที่สุด “เราจำเป็นต้องทำให้กองทัพ(เมียนมา) เข้าใจว่าพวกเขาประเมินสถานการณ์ผิดไปแล้วถ้าคิดว่าจะลอยนวลได้หลังจากทำเรื่องแบบนี้”