ราคาบิตคอยน์ดีดตัว ขึ้นอย่างต่อเนื่องวานนี้ (8 ก.พ.) ขานรับข่าวที่ว่า บริษัท เทสลา ของ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชั้นแถวหน้าของโลก ได้เข้า ซื้อบิตคอยน์จำนวน 1,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 45,000 ล้านบาท และบริษัทพร้อมรับชำระการซื้อรถยนต์ด้วยเงินดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ด้วย
นายอีลอน มัสก์ ส่งหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (SEC) หรือ ก.ล.ต.สหรัฐว่า ทางบริษัทเทสลาได้เข้าซื้อบิตคอยน์จำนวนดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกระจายการลงทุน และเพื่อให้เงินสดของบริษัทสร้างผลตอบแทนสูงสุด โดยบริษัทจะกระจายเงินสดสำรองเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทองคำ และ ETF ทองคำ มากขึ้น
ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา บริษัท เทสลา ได้ปรับนโยบายการลงทุนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเพิ่มผลตอบแทนของเงินสดสำรองซึ่งเป็นส่วนเกินจากเงินสำรองเพื่อสภาพคล่องในการดำเนินงานปกติ ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกของบริษัทนั้น ได้แก่ ทองคำ และบิตคอยน์ เป็นต้น บริษัทระบุว่า อาจถือสินทรัพย์เหล่านี้ในเวลาระยะยาวได้ นอกจากนี้ เทสลายังจะเริ่มรับชำระเงินค่าซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วยเงินบิตคอยน์ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์แปลกใหม่ของวงการยานยนต์
หลังการประกาศข่าวดังกล่าว ราคาของบิตคอยน์ ก็ได้รับแรงหนุนให้พุ่งทะลุ 42,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นการปรับเพิ่ม 9% และถือเป็นจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์ในทันที
ทั้งนี้ บิตคอยน์ได้พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว หลังจากที่นายอีลอน มัสก์ ติดแฮชแท็ก #bitcoin ในบัญชีทวิตเตอร์ของเขา นักวิเคราะห์จากบริษัทโซเชียล แคปิทัล คาดการณ์ว่า ราคาบิตคอยน์ยังคงสามารถพุ่งขึ้นต่อไป โดยอาจไปถึง 100,000 ดอลลาร์, 150,000 ดอลลาร์ และ 200,000 ดอลลาร์
ด้านนายนิโคลัส ปานิเกอร์โซโกล นักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ในระยะยาวบิตคอยน์มีแนวโน้มทะยานขึ้นแตะระดับ 146,000 ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่จะทำให้บิตคอยน์มีแนวโน้มแข็งแกร่งมาจากการที่นักลงทุนเริ่มกระจายการลงทุนด้วยการเข้าซื้อบิตคอยน์นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า
การดีดตัวของบิตคอยน์ในครั้งนี้แตกต่างจากในปี 2560 เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกระแสตอบรับที่คึกคักจากกลุ่มบริษัทฟินเทคและนักลงทุนรายใหญ่ในตลาด เช่น นายพอล ทิวดอร์ โจนส์ และนายสแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์ ซึ่งแตกต่างไปจากในปี 2560 ที่ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนในบิตคอยน์จะเป็นนักลงทุนรายย่อย
ขณะเดียวกัน ตลาดเงินคริปโต (เงินดิจิทัล) ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การที่เพย์พาล (PayPal) ยักษ์ใหญ่ฟินเทค ได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำการซื้อขายบิตคอยน์ และสกุลเงินคริปโตอื่นๆได้ นอกจากนี้ ลูกค้า PayPal ยังสามารถใช้สกุลเงินคริปโตในการซื้อสินค้าจากเครือข่ายร้านค้าปลีกจำนวน 26 ล้านแห่งของทางบริษัทได้ด้วย
ด้านบริษัท “สแควร์” (Square) ซึ่งเป็นบริษัทฟินเทคของสหรัฐ เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทได้เข้าซื้อบิตคอยน์มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ Square ยังได้เปิดให้บริการสกุลเงินคริปโตสำหรับลูกค้าที่ใช้แอปพลิเคชัน Cash ของทางบริษัท
อีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันบิตคอยน์ คือการที่รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกพากันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวได้ทำให้สกุลเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลง ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองบิตคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ทางเลือกกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าบิตคอยน์มีสถานะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับทองคำ ซึ่งนักลงทุนจะแห่เข้าซื้อในช่วงเวลาที่เกิดความตื่นตระหนก นอกจากนี้ นักลงทุนยังนิยมใช้บิตคอยน์เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจากการที่รัฐบาลต่างๆมีแนวโน้มทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกันออกมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Tesla พลาดเป้าขาย 5 แสนคัน แต่ยอดโต 36%
"เทสลา"ขึ้นแท่นผู้ผลิตรถยนต์มูลค่าสูงสุดในโลก