ประมวลภาพ “ม็อบเมียนมา” ต้านเผด็จการ จากวันจับ “ซูจี” ถึงนาทีประกาศเคอร์ฟิว

09 ก.พ. 2564 | 04:59 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.พ. 2564 | 05:11 น.

ประชาชนในเมียนมาออกมาแสดงพลังเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารที่ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อเช้าตรู่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แม้การประท้วงจะล่วงเลยย่างเข้าวันที่สี่แล้วก็ตาม พลังมวลชนก็ยังยืนหยัดเรียกร้องการปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและหัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ถูกกักตัวในบริเวณบ้านพักของเธอเอง

พุธที่ 3 ก.พ. ผู้ประท้วงกลุ่มแรก ๆ เป็นบุคลากรการแพทย์ หรือกลุ่มด่านหน้าที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโควิด-19  พนักงานของโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ราว 70 แห่งใน 30 เมืองทั่วประเทศเมียนมา ได้พากันนัดหยุดงานเพื่อประท้วงการก่อรัฐประหารของกองทัพ

การหยุดงานประท้วงของบุคลากรการแพทย์ 70 โรงพยาบาล

สัญลักษณ์ชู 3 นิ้วต่อต้านเผด็จการ

 

กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนการอารยะขัดขืนแห่งเมียนมา” (Myanmar Civil Disobedience Movement) ออกแถลงการณ์ประณามกองทัพว่า เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน และไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19

พลังมวลชนอารยะขัดขืนเกิดขึ้นโดยทั่วไปในหลายเมือง

พฤหัสฯ ที่ 4 ก.พ. เมื่อรัฐบาลปิดกั้นสื่อ โดยเฉพาะการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง “เฟซบุ๊ก” โดยอ้างมีการเผยแพร่ข่าวบิดเบือน-ข่าวลวง ก็เป็นการ “จุดชนวน” ให้ประชาชนออกมาต่อต้านมากขึ้น
 

คณะครูผ้านุ่งเขียวร่วมการประท้วงในเมืองย่างกุ้ง

ศุกร์ที่ 5 ก.พ. คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยออกมารวมตัวกันในเมืองย่างกุ้ง เพื่อแสดงพลังสนับสนุนนางอองซาน ซูจี และพลพรรค NLD ที่ถูกควบคุมตัว

 

เสาร์ที่ 6 ก.พ. กองทัพเมียนมา สั่งปิดเพิ่มเติมสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง “ทวิตเตอร์” และ “อินสตาแกรม” ไม่มีกำหนด หรือจนกว่าจะมีการแจ้งเพิ่มเติม

 

ประชาชนนับหมื่นออกมาเดินขบวนประท้วงในท้องถนนหลายเมืองทั่วประเทศ ถึงจุดนี้ยังไม่มีการใช้ความรุนแรง

การตี-เคาะ ภาชนะต่างๆให้เกิดเสียงดังขับไล่เผด็จการ

อาทิตย์ที่ 7 ก.พ. การประท้วงเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ประชาชนหลายพันคนในเมืองย่างกุ้ง นัดเคาะหม้อ ถัง กะละมัง ไห รวมทั้งการบีบแตรรถยนต์ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ตามความเชื่อโบราณคือเป็นการเคาะไล่สิ่งอัปมงคล แต่ ณ วินาทีนี้ คือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขับไล่เผด็จการทหารนั่นเอง

 

มีการชุมนุมประท้วงคู่ขนานในขนาดเล็กลงมาที่เมืองเมาะละแหม่ง และมัณฑะเลย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามจลาจลเตรียมพร้อม ทั้งรถตำรวจ – รถฉีดน้ำแรงดันสูง มีการกั้นแนวรั้วห้ามผู้ประท้วงข้ามแนวเส้นแบ่งเข้ามา

การชุมนุมโดยภาพรวมยังเป็นไปโดยสงบ

จันทร์ที่ 8 ก.พ. มวลชนยังเนืองแน่นบนถนนเป็นวันที่สาม คณะรัฐประหารประกาศกฎอัยการศึกในเมืองมัณฑะเลย์ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คน ห้ามการประท้วง ห้ามออกนอกเคหะสถานยามวิกาล (ตั้งแต่ 20.00-04.00 น.) เจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ใช้กระสุนจริง

 

นอกจาก 7 เขตปกครองในเมืองมัณฑะเลย์แล้ว ยังมีการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองอื่น ๆด้วย เช่น 3 อำเภอในเมืองย่างกุ้ง และในรัฐกะยาห์

ผู้ฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวจะโดนดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด

การประกาศเคอร์ฟิว เป็นอำนาจของแต่ละฝ่ายบริหารงานส่วนท้องถิ่น ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 144 ประมวลกฎหมายอาญา

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมียนมางัด “มาตรการเคอร์ฟิว” รับมือม็อบมวลชน

เปิดไทม์ไลน์ 1 สัปดาห์เต็มหลังรัฐประหาร เกิดอะไรขึ้นบ้างในเมียนมา

เมียนมาขู่ใช้กระสุนจริง ประกาศกฎอัยการศึกเมืองมัณฑะเลย์

กองทัพเมียนมาสั่งปิด “ทวิตเตอร์-อินสตาแกรม” ยัน “ซูจี” ยังสบายดี

คณะรัฐประหารเมียนมา ประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี