องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) แถลงวานนี้ (15 มี.ค. ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า EMA จะทำการพิจารณาทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับรายงานที่ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้เกิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย นอกจากนี้ EMA จะจัดการประชุมวาระพิเศษ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มี.ค. เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ประกาศว่า ฝรั่งเศสตัดสินใจระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการชั่วคราว เพื่อรอการประเมินความปลอดภัยจาก EMA แต่จะกลับมาฉีดวัคซีนดังกล่าวอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หาก EMA ให้คำแนะนำในเชิงบวกเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นอกจากฝรั่งเศสแล้ว ยังมีสเปน เยอรมนี และอิตาลี ที่ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในเวลาไล่เลี่ยกันเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้มีผลในทันที ท่ามกลางความกังวลหลังมีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนบางราย
"หลังจากที่มีรายงานใหม่เกี่ยวกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดสมองที่เชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีนในเยอรมนีและยุโรป ทางสถาบันพอล อุลริช ก็ได้แถลงถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบมากขึ้นในเรื่องนี้" แถลงการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีระบุ ทั้งนี้ สถาบันพอล อุลริช เป็นองค์กรกำกับนโยบายวัคซีนแห่งชาติของเยอรมนี
ด้านกระทรวงสาธารณสุขสเปนระบุว่า สเปนจะระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยย้ำว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นมาตรการชั่วคราวและใช้เป็นมาตรการเชิงป้องกัน “จนกว่าความเสี่ยงทั้งหลายจะได้รับการประเมินอย่างถ้วนถี่แล้วโดย EMA”
ก่อนหน้านี้ เดนมาร์ก ออสเตรีย นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ อิตาลี บัลแกเรีย ลักเซมเบิร์ก เอสโทเนีย ลิธัวเนีย ลัตเวีย โรมาเนีย ต่างก็ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากอาการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ และบางรายมีอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดหลังได้รับวัคซีน
ส่วนประเทศนอกสหภาพยุโรป (อียู) เช่น อินโดนีเซียและคองโก ก็ได้ประกาศระงับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการชั่วคราวเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวในการระงับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการชั่วคราวในหลายประเทศของยุโรปนี้ มีขึ้นแม้ว่าทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้าเอง จะออกมายืนยันแล้วก็ตามวานนี้ (15 มี.ค.) ว่า ไม่มีหลักฐานใด ๆที่บ่งชี้ว่าวัคซีนดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับอาการลิ่มเลือดอุดตัน
นอกจากนี้ ทาง WHO ยังแนะด้วยว่า นานาประเทศควรเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าต่อไปควบคู่ไปกับการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากที่โลกจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้โดยเร็วที่สุด
ทางด้าน EMA ของอียู ออกมาย้ำเช่นกันว่า แต่ละประเทศควรเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนของตัวเองต่อไป ทั้งนี้เห็นว่า ข้อดีของวัคซีนในแง่การป้องกันโรคมีมากกว่าข้อเสียหรือความเสี่ยงที่พบ
บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเอง แถลงว่า จากการศึกษาอย่างละเอียดหลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทให้กับประชาชนในอียูและอังกฤษรวม 17 ล้านราย ยังไม่พบว่ามีหลักฐานใด ๆบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบในผู้ฉีดวัคซีนบางราย
รายงานการศึกษาของบริษัทยังพบว่า ในจำนวนผู้รับวัคซีนนับล้านคนในอียูและอังกฤษนั้น มีรายงานเกี่ยวกับอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis: DVT) 15 ราย และมี 22 รายที่พบภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด(Pulmonary Embolism) ซึ่งเมื่อเทียบจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ได้รับรายงานหลังการฉีดวัคซีนนี้ ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าอัตราการพบภาวะดังกล่าวในกลุ่มประชากรทั่วไป และยังเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ผลิตรายอื่นๆที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อยู่ในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: