ทำไม 1 เมษาถึงต้องเป็นวันโกหกแห่งชาติ แต่ปีนี้หลายที่รณรงค์ "งดเล่นก่อนเถอะ"

31 มี.ค. 2564 | 23:40 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2564 | 07:02 น.

พบกับความเป็นมาของ "วันโกหก" หรือ April Fool’s Day วันเมษาหน้าโง่ " 1 เมษายน" ที่สืบทอดมายาวนานและแพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่หากคิดจะเล่นในปีนี้ คงต้องระวังกันหน่อย

วันเมษาหน้าโง่ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า April Fool’s Day ตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี หลายคนเรียกวันนี้ว่า “วันโกหก” เพราะเป็นวันที่มีการโพสต์ข่าว แชร์ข่าวปลอม-ข่าวเท็จกันว่อน! ก่อนที่จะมาเฉลยกันในวันรุ่งขึ้นว่า มันเป็นเรื่องโกหก หยอกเย้า หรืออำกันเล่น ๆ เป็นธรรมเนียมของวันที่ 1 เมษายน ห้ามถือสาหาความกัน

เรื่องนี้กลายเป็นธรรมเนียมสากล เล่นตาม ๆกันไปในหลายประเทศ ก่อนที่สื่อโซเชียลมีเดียจะเป็นที่นิยมกันเหมือนเช่นทุกวันนี้ สื่อหนังสือพิมพ์ในอดีตก็นิยมตีพิมพ์ “ข่าวหลอก” 1 ชิ้น ประจำวันที่ 1 เมษายน บางครั้งก็สร้างรอยยิ้ม แต่หลายครั้งก็สร้างความตื่นตระหนกตกใจ ลือๆ กันไป ก่อนจะมาเฉลยในภายหลังว่า “ล้อกันเล่น” “หยอก ๆ” ก็แค่ข่าวหลอกในวันเมษาหน้าโง่   

มีบันทึกโบราณพบว่าต้นกำเนิดของ "วันเมษาหน้าโง่" เกิดขึ้นใกล้เคียงกับเทศกาล “ฮิลาเรีย” ของโรมันที่จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคม และยังพบว่ามี "เทศกาลคนโง่" ในยุโรปสมัยยุคกลาง ที่จัดขึ้นในวันที่ 28 ธันวาคม ส่วนการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day เดือนเมษายนนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีซ และฝรั่งเศส

บันทึกโบราณเล่าว่า ในศตวรรษที่ 19 ชุดคำพูด "โกหก" ที่ผู้คนสมัยนั้นนิยมนำมาแกล้งอำกัน เช่น พวกอาจารย์มักจะแกล้งบอกกับลูกศิษย์ในโรงเรียนว่า "ดูโน่นสิ! ฝูงห่าน" แล้วชี้นิ้วขึ้นไปบนฟ้า ส่วนกลุ่มนักเรียนจะแกล้งหลอกเพื่อนๆ คนอื่นว่าโรงเรียนงดการเรียนการสอนในวันนั้น ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เหยื่อตกหลุมพรางตามแผนที่คนแกล้งวางเอาไว้แล้ว คนแกล้งจะตะโกนออกมาว่า "April Fool"

ย้อนไปไกลกว่านั้น มีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) เล่าว่า สมัยโบราณมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่

จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือคือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง

1 เมษายนกลายเป็นวันโกหกแห่งชาติในหลายประเทศ

ยังมีอีกทฤษฎีที่เชื่อว่า วันเมษาหน้าโง่ หรือ April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16  

แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลาง วันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราค ม แต่เนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ทำให้ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงยังมีการจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม พวกคนอื่นๆ ที่รู้เรื่องการเปลี่ยนวันปีใหม่แล้ว จึงพากันเรียกพวกนี้ว่า "พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง

การเล่นแกล้งส่งข้อความหลอกกันนี้ ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันก็แพร่ระบาดมาถึงประเทศเอเชียรวมทั้งไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการรณรงค์เลิกเล่นโกหก เลิกหยอกกันด้วยข่าวลวงในวันที่ 1 เมษายน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกหรือสร้างความรู้สึกซ้ำเติมผู้ที่ประสบความลำบากจากโรคระบาดมากอยู่แล้ว วันนี้เมื่อปี 2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ได้ย้ำถึงเรื่องการโพสต์ หรือแชร์ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ โควิด-19 ว่าขออย่าได้โกหก หรือสร้างข่าวหลอกในเรื่องเชื้อโควิดและการติดเชื้อต่างๆ ผู้กระทำมีโทษถึงติดคุกหรือถูกปรับหลักแสนบาทเลยทีเดียว

มาในปีนี้ (2564) ตำรวจยังได้ออกมารณรงค์และเตือนเรื่องการส่งข่าวลวง-เรื่องโกหกในวันที่ 1 เมษายนนี้ด้วยเช่นกัน ว่าหากกระทำการโดยไม่ระมัดระวัง ก่อให้เกิดความเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือในประเด็นอื่นที่ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก เรื่องนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่อย่างชัดเจน อาจทำให้เจอโทษทั้งจำทั้งปรับได้ (อ่าน: April Fool's Day 1 เม.ย. “วันโกหก” แชร์ข่าวปลอม-เรื่องหลอกลวง ระวังผิดพ.ร.บ.คอมพ์)

ในต่างประเทศมีความเคลื่อนไหวรณรงค์งดเล่นโกหกในวัน “เมษาหน้าโง่” ในปีนี้เช่นกัน โดย “กูเกิล อิงค์” ผู้บริหารเว็บไซต์เสิร์ชเอ็นจินชื่อดัง ได้ออกจดหมายเวียนภายในองค์กร ขอให้พนักงานงดเล่นสร้างข่าวลวงหรือเรื่องโกหกเพื่อหยอกเย้ากันตามธรรมเนียมของวันที่ 1 เม.ย. เนื่องจากโลกยังตกอยู่ท่ามกลางความเดือดร้อนที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ข่าวระบุว่า ปีที่ผ่านมา กูเกิลก็รณรงค์งดเล่น-งดร่วมกิจกรรมการสร้างหรือส่งต่อข่าวโกหกในวันที่ 1 เมษายนมาครั้งหนึ่งแล้วด้วยเหตุผลเดียวกันนี้  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

April Fool's Day 1 เม.ย. “วันโกหก” แชร์ข่าวปลอม-เรื่องหลอกลวง ระวังผิดพ.ร.บ.คอมพ์

เช็กที่นี่ 5 ข่าวลวง ที่ควรบอกต่อว่า "หยุดแชร์" ได้แล้ว

ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนแชร์ข้อมูลทุกครั้ง อย่าตกเป็นเครื่องมือ “ข่าวลวง”

กระทรวงดีอี & ปอท.แถลงจับ 9 คดีปล่อยข่าวลวง

Googleตั้งกองทุน3ล้านดอลลาร์ต้านข่าวลวงวัคซีนโควิด