นางเออร์นา ซูลบาร์ก นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ เปิดเผยวานนี้ (12 พ.ค.) ว่า รัฐบาลนอร์เวย์ จะ ยกเลิกการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ น อร์เวย์ได้ระงับการใช้ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. เมื่อมีรายงานว่าวัคซีนดังกล่าวมี ผลข้างเคียง ทำให้เกิด ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในผู้ป่วยบางราย ทั้งนี้ 8 รายมีอาการรุนแรง และในจำนวนนี้ 4 รายเสียชีวิต
สื่อต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลนอร์เวย์ยังคงตัดสินใจที่จะใช้วัคซีนของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ต่อไปในโครงการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แม้จะพบรายงานถึงผลข้างเคียงในลักษณะเดียวกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเรื่องนี้ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของนอร์เวย์ออกมาให้คำอธิบายชี้แจงเหตุผลแต่อย่างใด
เพียงแต่ระบุถึงเหตุผลในการตัดสินใจเลิกใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าว่า การตัดสินใจของรัฐบาลมีขึ้น หลังได้รับคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนอร์เวย์ (เอ็นไอพีเอช) และคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ควรเลิกใช้วัคซีนทั้ง 2 ชนิดดังกล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลนอร์เวย์ยังวางแผนที่จะบริจาควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไม่ได้ใช้งานให้กับประเทศอื่น ๆ ต่อไป
ข้อมูลล่าสุดจากเอ็นไอพีเอชระบุว่า ปัจจุบัน ชาวนอร์เวย์จำนวน 1,505,957 รายได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 โดสแล้ว หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.2% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ วัคซีนที่นอร์เวย์ใช้เป็นหลักคือ วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา และของไฟเซอร์-บิออนเทค
ทั้งนี้ เดนมาร์กเป็นชาติแรกที่ตัดสินใจยกเลิกการใช้งานวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากเหตุผลเกี่ยวกับการก่อลิ่มเลือดอุดตัน นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลเดียวกัน เดนมาร์ก ยังยกเลิกการใช้วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ในโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ด้วย
นักวิจัยย้ำไม่ควรใช้วัคซีนแอสตร้าฯ ร่วมกับไฟเซอร์
เมื่อเร็ว ๆนี้ ยังมีผลงานการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารด้านการแพทย์ “เดอะ แลนเซต” ของอังกฤษว่า การใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ของ "แอสตร้าเซนเนก้า" ร่วมกับ "ไฟเซอร์" อาจจะพบกับผลข้างเคียงเพิ่มเติม แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงนัก เช่น เหนื่อยล้า และปวดศีรษะ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างผลศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์เดอะ แลนเซตว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จากสองบริษัทร่วมกัน โดยการฉีดวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก ตามด้วยวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทคเป็นโดสที่สอง อาจทำให้ผู้ป่วยมีผลข้างเคียงมากขึ้น หากเทียบกับการใช้วัคซีนตัวเดิมในการฉีดทั้งสองครั้ง
รายงานผลวิจัยระบุว่า ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน 2 ตัวที่แตกต่างกันมีอาการเหนื่อยล้ารุนแรงประมาณ 10% จากทั้งหมด เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ฉีดวัคซีนตัวเดิมทั้งสองโดส ซึ่งมีอาการเหนื่อยล้ารุนแรงประมาณ 3% เท่านั้น
ทั้งนี้ นักวิจัยได้เริ่มศึกษาประสิทธิภาพของการใช้วัคซีน 2 ตัวร่วมกัน เพื่อเป็นตัวเลือกให้ประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำหลายราย เอาไว้ใช้ในการจัดการกับปัญหาการขาดแคลนวัคซีน หากพบว่าการใช้วัคซีนจากสองบริษัทร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัคซีน ยังคงเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผล
นอกจากนี้ นักวิจัยยังศึกษาว่า การใช้วัคซีน 2 ตัวร่วมกันทำให้ผู้ป่วยมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากเท่าใด เรื่องนี้ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าการวิจัยน่าจะให้ผลลัพธ์ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง