นักวิจัยของ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่ปัจจุบันแพร่ระบาดไปใน 80 ประเทศทั่วโลก นอกจากจะสามารถแพร่กระจายตัวได้เร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟาที่ตรวจพบครั้งแรกในเมืองเคนท์ ประเทศอังกฤษ ประมาณ 60% แล้ว ยังมีแนวโน้มว่ามันทำให้ผู้ป่วยมี อาการหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ได้มากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น
แม้ว่าประเด็นดังกล่าวข้างต้นนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อหาข้อสรุป แต่ WHO ก็มีข้อมูลว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา ที่ตรวจพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย อาจจะทำให้เกิด “อาการ” ที่แตกต่างไปจากเดิมที่ผู้คนเคยได้รับข้อมูลแนะนำมาว่าให้ใช้เป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วยโควิด-19
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ ซีดีซี เปิดเผยว่า แต่ไหนแต่ไรมา ผู้คนทั่วโลกได้รับการแนะนำว่าให้สังเกตอาการของผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อโควิดว่า อาการหลัก ๆ หรืออาการเด่นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 คือ มีไข้ มีการไอถี่ ๆ และสูญเสียการรับรู้รสหรือกลิ่น ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเพิ่มเติมอาการที่อาจจะพบได้อีก เช่น ปวดเมื่อย ปวดร่างกาย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหัว เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย นอกจากนี้ ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 อีกจำนวนมากนับล้าน ๆ คนทั่วโลกที่ไม่แสดงอาการใดๆ เลย
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาอาจจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีการที่แตกต่างไปจากเดิม หรือไม่เหมือนกับที่ผู้คนเคยได้รับคำแนะนำมา
ทิม สเปคเตอร์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาในระดับพันธุวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำลังจัดทำโครงการศึกษาอาการของผู้ติดเชื้อโควิดที่เรียกว่า โครงการ Zoe Covid Symptom Study โดยการเก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอังกฤษผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่ประชาชนสามารถเข้าไปใส่ข้อมูลผ่านแอปฯ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ได้นำเข้ามูลไปวิเคราะห์-วิจัย
“เราพบว่าโควิดกำลังแสดงอาการในลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม อาการของมันเหมือนการเป็นไข้หวัดมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น-คนหนุ่มสาว ผู้คนไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ และภาครัฐเองก็ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลย” ศ.สเปคเตอร์กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
นับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลผ่านแอปฯ ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ “อาการเด่น” ที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 (ในอังกฤษ) รายงานเข้ามา นับว่าแตกต่างไปจากเดิม
“อาการโดดเด่นอันดับ1ที่ผู้ติดเชื้อรายงานเข้ามาคือ อาการปวดหัว จากนั้นก็ตามมาด้วยเจ็บคอ น้ำมูกไหล และเป็นไข้” นักวิจัยระบุ ส่วนอาการหลัก ๆ ของไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น อาการไอ และสูญเสียการรับรสและกลิ่น นั้นปัจจุบันมีการรายงานเข้ามาน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย ขณะเดียวกัน ในกรณีผู้ติดเชื้อวัยหนุ่มสาวพวกเขารายงานอาการที่เหมือนกับเป็นไข้หวัดมากขึ้น บ้างก็ว่าเป็นอาการแปลก ๆ ยากจะบรรยาย
ทั้งนี้ อาการที่หลากหลายมากขึ้นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอังกฤษนั้น เกิดขึ้นพร้อม ๆกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ “อัลฟา” ซึ่งมีการตรวจพบครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอังกฤษจำนวนมากกว่า 1 ล้านคนระหว่างเดือนมิ.ย. 2563 ถึงม.ค. 2564 (เป็นช่วงที่สายพันธุ์อัลฟามีการแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์หลัก) พบการรายงานอาการเพิ่มเติมมากมาย เช่น หนาวสั่น ไม่อยากอาหาร ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งไม่ใช่อาการหลัก ๆของไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เริ่มแพร่ระบาดช่วงต้นปี 2563
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาซึ่งขณะนี้เป็นสายพันธุ์ที่มีสัดส่วนการตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มผู้ติดเชื้อรายใหม่แทนที่สายพันธุ์อัลฟา ทำให้อังกฤษเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนครอบคลุมคนวัยหนุ่มสาวให้มากขึ้นและเร็วขึ้น ทั้งนี้ ผลการศึกษาของสาธารณสุขอังกฤษที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ (14 มิ.ย.) พบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็มไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทค หรืออ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า ล้วนมี “ประสิทธิภาพสูง” ในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา มีอาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่าบางประเทศเกิดความกังวลว่า วัคซีนที่พัฒนามาก่อนหน้านี้จะไม่สามารถป้องกันไวรัสโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่าง เดลตา และเดลตาพลัส ถึงกับมีการยกเลิกการกระจายวัคซีนบางตัว เช่นกรณีของประเทศคอสตาริกา ที่สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานเมื่อวันพุธ (16 มิ.ย.) ว่า รัฐบาลคอสตาริกาได้ปฏิเสธที่จะกระจายวัคซีนซิโนแวคให้กับประชาชนเป็นการชั่วคราวหลังมีผลการศึกษาเผยแพร่ออกมาว่า วัคซีนดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันโควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง