นายแพทย์สก็อตต์ ก็อตต์ลี้บ อดีตประธานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐออกโรงเตือนวานนี้ (17 มิ.ย.) ว่า ผลการวิจัยครั้งใหม่จากประเทศอังกฤษ พบ การติดเชื้อโควิด-19 มีความเกี่ยวข้องกับการเกิด ความเสียหายของเนื้อเยื่อสมองในระยะยาว
โดยงานวิจัยบ่งชี้ว่า เชื้อโควิด-19 อาจทำให้เกิดการสูญเสียเนื้อเยื่อสมองในระยะยาว และจะส่งผลกระทบบางประการในระยะยาวด้วยเช่นกัน
"เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายเราอาจปรับตัวได้ ฉะนั้น อาการที่เกิดขึ้นจากความเสียหายนั้นก็อาจจะหายไป แต่ร่างกายก็จะไม่สามารถสร้างเนื้อเยื่อสมองขึ้นมาทดแทนได้ หากถูกไวรัสทำลายไปแล้ว" นพ.ก็อตต์ลีบ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกบอร์ดบริหารบริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 รายหนึ่งระบุ
ในงานวิจัยดังกล่าว มีการตรวจสอบภาพสแกนสมองจากก่อนและหลังการติดเชื้อโควิด-19 และมุ่งเน้นการศึกษาเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบประสาท
นพ.ก็อตต์ลีบกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ CNBC สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า การที่เนื้อเยื่อสมองถูกทำลาย อาจเป็นสาเหตุที่ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 หลายรายสูญเสียการรับรู้กลิ่น
ทั้งนี้ งานวิจัยพบว่า มีการสูญเสียเนื้อเยื่อสมองในบริเวณใกล้กับจุดที่ทำหน้าที่รับรู้กลิ่น ซึ่งหมายความว่า การสูญเสียการรับรู้กลิ่นนั้นเป็นเพียงหนึ่งในผลจากความเสียหายหลักที่เกิดขึ้น ซึ่งก็คือการหดตัวของเนื้อเยื่อสมอง
ปัจจุบัน นพ.ก็อตต์ลีบเป็นผู้เขียนบทความให้กับสำนักข่าว CNBC และเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารของบริษัทไฟเซอร์, บริษัทเท็มพัส, บริษัทเออีชั่น อิงก์ และบริษัทอิลลูมินา
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง