บทความในหนังสือพิมพ์ เดอะ วอชิงตัน โพสต์ สื่อใหญ่ของสหรัฐที่เขียนโดยโจเซฟ จี. อัลเลน รองศาสตราจารย์และผู้อำนวยการโครงการเฮลธี บิลดิงส์ (Healthy Buildings) ที่วิทยาลัยสาธารณสุข ที เฮช ชาน ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่ามีบทเรียนมากมายจาก ความล้มเหลวของกลยุทธ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสหรัฐ ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงความล่าช้าในการอนุมัติวัคซีนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) ด้วย
"หนทางออกเดียวคือการใช้ข้อบังคับ" อัลเลนระบุ พร้อมเสริมว่าโรงพยาบาลและคลินิกดูแลสุขภาพต้องบังคับฉีดวัคซีนตามที่องค์กรดูแลสุขภาพชั้นนำเกือบ 60 แห่งเรียกร้องเมื่อเดือนก.ค. โดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (CDC) กล่าวว่าปัจจุบันมีบุคลากรด้านการรักษาพยาบาลระยะยาวและสถานพยาบาล ที่ได้รับวัคซีนแล้วเพียง 45% เท่านั้น
จะเห็นได้ว่า กระแสการบังคับฉีดวัคซีนในได้เกิดขึ้นแล้วทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยกตัวอย่างเช่นกรณีของกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐที่ประกาศเมื่อที่ 2 ส.ค.ที่ผานมา ว่าจะกำหนดให้บุคลากรการแพทย์ทุกคนที่เป็นด่านหน้าของกระทรวงฯ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นหน่วยงานรัฐบาลกลางแห่งแรกที่บังคับฉีดวัคซีนต้านโควิดแก่บุคลากร
ในส่วนขององค์กรธุรกิจเอกชนนั้น สายการบินสหรัฐหลายรายระบุให้พนักงานฉีดวัคซีนป้องกันโควิดและผู้ไม่ปฏิบัติตาม ก็เสี่ยงที่จะถูกให้พักงานหรือถึงขั้นให้ออกจากงาน (อ่านเพิ่มเติม: "ยูไนเต็ด แอร์ไลน์" ขู่ไล่พนักงาน หากไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด) แม้แต่องค์กรสื่ออย่างซีเอ็นเอ็น ก็มีการไล่ออกพนักงานที่ฝ่าฝืนคำสั่งของบริษัทที่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดก่อนกลับเข้าทำงานในออฟฟิศเช่นกัน (อ่านเพิ่มเติม: CNN ไล่ออก 3 พนักงานฝ่าฝืนคำสั่ง ไม่ฉีดวัคซีนโควิดก่อนกลับเข้าออฟฟิศ )
นอกจากนี้ หลายองค์กรยังบังคับใส่หน้ากากอนามัยระหว่างอยู่ในสถานที่ทำงานอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา นายแพทย์แอนโทนี ฟอซี แพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ของทำเนียบขาวและผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ (NIAID) เปิดเผยว่า เขาเริ่มรู้สึกท้อใจมากต่อสถานการณ์ของโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยกล่าวว่า สหรัฐกำลังอยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยไม่จำเป็น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และประเทศกำลังเดินผิดทาง
ขณะเดียวกัน ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเผยแพร่ข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในอีก 4 สัปดาห์ข้างหน้าว่า ยอดผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิด-19 ในสหรัฐมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตัวเลขประมาณการโดยรวมของ CDC บ่งชี้ว่า เมื่อถึงสัปดาห์ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 28 ส.ค. สหรัฐจะมี :
"ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดตัวเลขเกี่ยวกับโควิด-19 ที่รายงานนั้นมีมากกว่าตัวเลขในช่วงเวลาที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งบ่งชี้ว่า ตัวเลขปัจจุบันที่คาดการณ์ไว้ในช่วงเวลาต่างๆ นั้นอาจยังไม่สะท้อนแนวโน้มความไม่แน่นอนโดยรวม ด้วยเหตุนี้ การคาดการณ์ตัวเลขในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้าจึงควรทำอย่างระมัดระวัง"CDC ระบุ
เล็งกำหนดให้ชาวต่างชาติต้องฉีดวัคซีนก่อนเข้าประเทศ
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังปรับปรุงแผน ซึ่งจะกำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนที่จะเดินทางเข้าสหรัฐต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดส เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทาง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวได้สั่งห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางเข้าสหรัฐ
เจ้าหน้าที่ระบุว่า ทำเนียบขาวต้องการที่จะกลับมาเปิดการเดินทางอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นธุรกิจสายการบินและการท่องเที่ยว แต่ในขณะเดียวกัน ทำเนียบขาวก็ยังไม่พร้อมที่จะยกเลิกข้อจำกัดในทันที เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่สามารถแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
"คณะบริหารของปธน.ไบเดนมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อสร้างระบบใหม่ที่มีความพร้อมเมื่อเราสามารถกลับมาเปิดการเดินทางได้อีกครั้ง ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ชาวต่างชาติทุกคนที่ต้องการเดินทางเข้าสหรัฐจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส" เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าว
ทั้งนี้ สหรัฐเริ่มใช้มาตรการจำกัดการเดินทางครั้งแรกกับนักท่องเที่ยวชาวจีนเมื่อเดือนม.ค. 2563 เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากนั้นสหรัฐได้เพิ่มรายชื่อประเทศที่ถูกจำกัดการเดินทางเข้าสหรัฐเรื่อยมา จนกระทั่งล่าสุดในเดือนพ.ค. สหรัฐได้ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางจากอินเดียเข้าประเทศ
การเปิดเผยล่าสุดของเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนที่สุดว่า สหรัฐกำลังเดินหน้าลดข้อจำกัดในการเดินทาง แต่ขณะเดียวกันก็เอาจริงเอาจังในเรื่องการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยังเปิดเผยว่า "คณะทำงานของทำเนียบขาวกำลังปรับปรุงแผนและเตรียมขั้นตอนต่างๆ ให้พร้อม เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ระบบใหม่"