สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เหิงต้า เรียล เอสเตท กรุ๊ป ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป แถลงเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) ว่า จะจ่ายดอกเบี้ยตรงเวลาในวันที่ 23 กันยายนนี้ สำหรับหุ้นกู้ที่ซื้อขายในตลาดเซินเจิ้นที่จะครบอายุไถ่ถอนในเดือนกันยายน 2568 ซึ่งมีผลตอบแทน 5.8%
จากข้อมูลของบริษัทวิจัยรีฟินิทีฟ เอเวอร์แกรนด์จะต้องชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 232 ล้านหยวน หรือ 35.88 ล้านดอลลาร์
แม้ตลาดหุ้นคลายความกังวลลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือ ขณะที่เอเวอร์แกรนด์ระบุว่า พร้อมจะชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในประเทศตรงตามเวลา แต่บริษัทไม่ได้ระบุว่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ย 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ 2 พันล้านดอลลาร์ในต่างประเทศที่จะครบอายุไถ่ถอนในเดือนมีนาคม 2566 ในวันที่ 23 กันยายนนี้หรือไม่ และบริษัทยังต้องจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่จะครบอายุในเดือนมีนาคม 2567 อีก 47.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 กันยายนนี้ด้วย หุ้นกู้ทั้งสองตัวนี้จะถือว่า “ผิดนัดชำระหนี้” หากเอเวอร์แกรนด์ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ภายใน 30 วัน
การซื้อขายหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ในตลาดภายในประเทศ ได้ระงับไปตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. เมื่อเหิงต้า เรียลเอสเตท ขอระงับการซื้อขายเป็นเวลา 1 วัน ในขณะที่เริ่มมีการซื้อขายใหม่ทางเทคนิคในวันที่ 17 ก.ย. แต่การซื้อขายมีเพียงธุรกรรมที่มีการเจรจาไว้แล้วเท่านั้น ซึ่งเทรดเดอร์กล่าวว่า เป็นความพยายามที่จะควบคุมความผันผวนในตลาด
การแถลงนี้มีขึ้นในขณะที่เอเวอร์แกรนด์ใกล้จะถึงเส้นตายสำคัญที่จะต้องชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ในวันนี้ (23 ก.ย.) และตลาดการเงินเกิดความตึงเครียด แม้ว่านักลงทุนตลอดจนนักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่าปัญหาของเอเวอร์แกรนด์จะเหมือนกับวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ที่ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปทั่วโลก
หลังการแถลงของเหิงต้าฯ ตราสารล่วงหน้า หุ้นสหรัฐ เงินหยวน และดอลลาร์ออสเตรเลียปรับตัวขึ้นในขณะที่สินทรัพย์หลบภัย อย่างเช่นเงินเยน และพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลง
ในขณะที่ตลาดเกิดแรงเทขายอย่างหนักเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ย.) จากความกังวลว่า ปัญหาเอเวอร์แกรนด์จะลุกลามบานปลาย หุ้นสหรัฐยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในวันอังคาร และหุ้นจีนปรับตัวลงในช่วงเช้าวันพุธ(22 ก.ย.) หลังจากที่หยุดทำการสองวัน แต่ดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของจีน กลับฟื้นตัวได้และปรับตัวขึ้นมากกว่า 3% ขณะที่ดัชนีกลุ่มธนาคารปรับตัวลงประมาณ 3%
ในขณะที่นักลงทุนและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกพยายามที่จะประเมินผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงจะเห็นภาพชัดว่าปัญหาเอเวอร์แกรนด์จะคลี่คลายอย่างไร ซึ่งอาจเป็นการปรับโครงสร้างหนี้โดยยังสามารถดำเนินการได้ต่อไป หรือต้องล้มละลายและขายสินทรัพย์ชำระหนี้ ขณะนี้บริษัทได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแล้ว
แกรี่ เกนสเลอร์ ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) กล่าวว่า ตลาดสหรัฐอยู่ในสถานะที่แข็งแรงพอจะรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทั่วโลกจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทใหญ่รายหนึ่ง เป็นสถานะที่แข็งแรงและน่าจะรองรับวิกฤติได้ดีกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551-2552
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ถึงแม้เอเวอร์แกรนด์มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้ แต่ข้อมูลจากบริษัทวิจัยมอร์นิ่งสตาร์ชี้ว่า มีกองทุนต่างชาติจำนวนหนึ่งได้เพิ่มการลงทุนในหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยแบล็กร็อก เอชเอสบีซี และยูบีเอสเป็นผู้ซื้อหุ้นกู้เอเวอร์แกรนด์รายใหญ่สุด ส่วนบริษัทอื่น ๆ ที่ถือหุ้นกู้ได้แก่ ยูบีเอส แอสเซ็ต แมเนจเมนต์ และ อามันดี ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนใหญ่สุดของยุโรป
โฆษกซิตี้กรุ๊ป ออกมาแถลงเมื่อเร็ว ๆนี้ว่า บริษัทไม่ได้มีการปล่อยกู้โดยตรงแก่เอเวอร์แกรนด์ แต่มีความเสี่ยงสินเชื่อผ่านคู่สัญญาโดยทางอ้อมเล็กน้อย และไม่มีนัยสำคัญมาก ขณะเดียวกันแหล่งข่าวกล่าวว่า เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และ แบงก์ ออฟ อเมริกา ก็ไม่ได้เกี่ยวพันกับเอเวอร์แกรนด์
ธนาคารบีเอ็นพี ปาริบาสประเมินว่า ในจำนวนหนี้ทั้งหมดกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์นั้น เป็นเงินกู้ของธนาคารไม่ถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งชี้ว่า ภาคธนาคารจีนมีกันชนเพียงพอที่จะดูดซับหนี้เสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม สื่อรายงานว่า ความกังวลที่ว่าเอเวอร์แกรนด์อาจจะผิดนัดชำระหนี้ในวันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อหุ้นบริษัทญี่ปุ่นที่เป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทรับสร้างบ้านในจีน หรือ มีลูกค้ารายใหญ่ในจีนด้วยเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้ (22 ก.ย.) หุ้นบริษัทสุขภัณฑ์โตโต้ ปรับตัวลง 6% ไดกิ้นปรับตัวลง 4.7% และ บริษัทเครื่องจักรก่อสร้าง อย่างโคมัตสึ และฮิตาชิ คอนสตรัคชั่น แมชชีนเนอรี่ ปรับตัวลงมากกว่า 5% นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเสียหายอาจลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ อีก หากการชะลอตัวในจีนเริ่มชัดเจนมากขึ้นกว่านี้
ข้อมูลอ้างอิง