ข่าวดี WHO ให้การรับรองวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทยแล้ว

14 ต.ค. 2564 | 01:15 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2564 | 08:30 น.

องค์การอนามัยโลก (WHO) เพิ่มชื่อโรงงานในประเทศไทยของบริษัท “สยามไบโอไซเอนซ์” เป็นสถานที่ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ได้รับการรับรองแล้วเมื่อต้นสัปดาห์นี้

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้การรับรอง วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (Siam Bioscience) ซึ่งมีฐานการผลิตตั้งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีแล้ว

 

โดยก่อนหน้านี้ WHO ได้ให้การรับรองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในยุโรป ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นแล้ว และเพิ่งให้การรับรองวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในประเทศไทยดังปรากฏในเอกสารที่เผยแพร่ครั้งแรกผ่านทางโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษา ศบค. เมื่อต้นสัปดาห์นี้

 

เนื้อหาในเอกสารซึ่งเป็นจดหมายที่ออกโดยนายโรจิริโอ กาสปาร์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมและกำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของ WHO ส่งถึง นางเอตเลวา คาดิลิ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดหาของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ลงวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุโดยสังเขปว่า

 

แจ้งเรื่อง การเพิ่มโรงงานผลิตวัคซีนใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Listing :EUL) ที่เสนอโดยแอสตร้าเซนเนก้า  ทางบริษัท ยินดีที่จะแจ้งให้ทราบถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆที่ออกมาในเชิงบวกเกี่ยวกับสถานที่ผลิตทางเลือกของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในอำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี โดยคำแนะนำนี้อ้างอิงตามข้อมูลที่ตรวจสอบโดย WHO และหน่วยงานบริหารสินค้ารักษาโรคของออสเตรเลีย (TGA) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนชนิดนี้

ข่าวดี WHO ให้การรับรองวัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตในไทยแล้ว

สยามไบโอไซเอนซ์ ได้ถูกเพิ่มลงในรายชื่อสถานที่ผลิตทางเลือกของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ EUL ที่บริษัทได้รับอนุญาต โดยหลังจากนี้หน้าเว็บ WHO EUL จะมีการอัพเดตเพื่อรวมชื่อบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ฯ สถานที่ผลิตวัคซีนแอสตร้าฯ ในประเทศไทยเข้าไปด้วย

 

ก่อนหน้านี้ นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น เป็นคุณภาพเดียวกันทั่วโลก เพราะบริษัทไม่มีทางเอาชีวิตของผู้คนมาเสี่ยง ฐานการผลิตทั้งหมด 25 แห่งทั่วโลก ต่างอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน