ข่าวดี "เมอร์ค" ไฟเขียวบริษัทยาทั่วโลกผลิตยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ได้แล้ว

27 ต.ค. 2564 | 21:59 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 09:15 น.

“เมอร์ค แอนด์ โค” ผู้ผลิตยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” สำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อนุญาตให้ประเทศต่างๆทั่วโลกผลิตยาดังกล่าวได้แล้วโดยจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี หลังบรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับองค์การสิทธิบัตรยา (MPP) แห่งสหประชาชาติ (UN)

องค์การสิทธิบัตรยา (MPP) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยวานนี้ (27 ต.ค.) ว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับ บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และ บริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ โดยบริษัททั้งสองจะอนุญาตให้ประเทศต่างๆทั่วโลกผลิต ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) เพื่อให้ประเทศยากจนสามารถเข้าถึงยาดังกล่าว

 

การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้จะทำให้ MPP สามารถให้สิทธิบัตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แก่บริษัทใน 105 ประเทศทั่วโลกซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในแอฟริกาและเอเชีย ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติให้ผลิตยาดังกล่าว 

ข่าวดี \"เมอร์ค\" ไฟเขียวบริษัทยาทั่วโลกผลิตยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ได้แล้ว

นอกจากนี้ บริษัทเมอร์คและบริษัทริดจ์แบ็คจะไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตีจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) มีความเห็นว่าโรคโควิด-19 ยังคงถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

 

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมอร์คได้มอบสิทธิบัตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่บริษัทยาของอินเดียจำนวน 8 แห่งซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกและคาดว่าจะได้ผลออกมาในเร็ว ๆนี้ ผู้บริหารรายหนึ่งของบริษัทยาในอินเดีย เปิดเผยว่า บริษัทสามารถผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ในราคาประมาณคอร์สละ 10 ดอลลาร์ หรือราวๆ 332 บาทเท่านั้น

 

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ยอดขายยาโมลนูพิราเวียร์ทั่วโลกจะสร้างรายได้มหาศาลให้แก่เมอร์คเนื่องจากมีความต้องการใช้ยาเพื่อรักษาโควิด-19 ทั่วโลก รัฐบาลหลายประเทศได้สั่งจองซื้อยาดังกล่าวล่วงหน้าแล้ว เช่น รัฐบาลสหรัฐได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 1.7 ล้านคอร์ส คิดเป็นวงเงินถึง 1,200 ล้านดอลลาร์

 

อย่างไรก็ตาม ข่าวความเคลื่อนไหวของเมอร์คที่จัดทำข้อตกลงกับ MPP และปลดล็อกการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ อนุญาตให้บริษัทยาทั่วโลกสามารถผลิตยาดังกล่าวโดยไม่เรียกเก็บค่ารอยัลตี จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้จำนวนมาก ทำให้หุ้นของเมอร์คที่ซื้อขายในตลาดนิวยอร์ก ปรับตัวดิ่งลง 1.07% สู่ระดับ 81.37 ดอลลาร์เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.)

 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า การผลิตยาโมลนูพิราเวียร์โดยโรงงานของบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับใบอนุญาตการผลิต จะช่วยทำให้ราคายาโมลนูพิราเวียร์ (ซึ่งการรักษา 1 คอร์สต้องใช้ยาประมาณ 5 วัน) ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณคอร์สละ 20 ดอลลาร์ (ประมาณ 664 บาท/คอร์ส) ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับราคาที่รัฐบาลสหรัฐซื้อยาดังกล่าวจากบริษัทเมอร์คในราคาคอร์สละ 712 ดอลลาร์ (กว่า 23,000 บาท/คอร์ส) 

 

ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน